ENC รีวิว 5 เรื่องเด่นปี65 ปีค่าไฟแพง

745
N4037
- Advertisment-

ก้าวเข้าสู่ปีขาล 2565 ภาคประชาชนผู้ใช้พลังงานไทยยังต้องเผชิญภาระจากผลกระทบของราคาพลังงานที่เคยตรึงเอาไว้ได้ในปี 64 รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ทางศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center-ENC​ หยิบยกมารีวิวให้เข้าใจใน 5 เรื่องสำคัญดังนี้

1.ค่าไฟฟ้า เอฟที พุ่งขึ้นตลอดปี 65

ผลพวงจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปลายปี 2564 โดยราคาน้ำมันขึ้นมาแตะระดับ 95.13 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบกว่า 1 ปี ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 57 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ช่วงปลายปี 2564 ประกอบกับอัตราค่าเงินบาทที่อ่อนค่าถึง 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ล้วนเป็นปัจจัยลบที่กระทบต่อต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าอย่างฉุดไม่อยู่ จนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ต้องประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในส่วนค่าเอฟทีในบิลค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บในเดือนม.ค.- เม.ย. 65 หลังจากที่เคยตรึงเอาไว้ได้นาน 2 ปี

- Advertisment -

ทั้งนี้หากว่ากันตามต้นทุนที่แท้จริงแล้ว การขึ้นค่าเอฟที งวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 65 จะต้องปรับขึ้น 63.33 สตางค์ต่อหน่วย เดือนพ.ค.-ส.ค.2565 อยู่ที่ 18.10 สตางค์ต่อหน่วย และ ก.ย.-ธ.ค. อยู่ที่ 34.81 สตางค์ต่อหน่วย จากปี 2564 ที่ค่า Ft ติดลบ 15.32 สตางค์ต่อหน่วย หรือเฉลี่ยทั้งปีที่ 28.28 สตางค์ต่อหน่วย

แต่ กกพ.ได้นำเงินบริหารจัดการไฟฟ้ามาพยุงค่าเอฟที รวม 18,640 ล้านบาท และใช้วิธีเฉลี่ยขึ้นค่าไฟฟ้าแบบขั้นบันได เลยทำให้ค่าเอฟที Ft งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 65 ปรับขึ้นมา 16.71 สตางค์ต่อหน่วย
ส่วนอีก 2 งวดที่เหลือ คือ งวดเดือน พ.ค.-สค.และงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. จะปรับขึ้นอีกเท่าไหร่ค่อยไปว่ากันอีกที ตอนนี้กระทรวงพลังงานก็ส่งสัญญาณให้ประชาชนช่วยใช้ไฟฟ้ากันอย่างประหยัด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายตัวเองลงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

  1. รัฐกู้เงินเพิ่ม 2 หมื่นล้านพยุงกองทุนน้ำมันฯ

ความผันผวนของราคาพลังงานโลกตลอดปี 2564 ยังคงเป็นเงาสะท้อนมาสู่ภาคพลังงานไทยในปี 2565 ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องด้วยในปีที่ผ่านมาไทยต้องเจอกับปัญหาราคาน้ำมันแพงอย่างหนักในช่วงปลายปี 2564 ประกอบกับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่พลิกผัน ทำราคาสูงตลอดปี 2564 อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องนำเงินไปพยุงทั้งราคาดีเซลและLPG จนกองทุนติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี พร้อมกับการเริ่มต้นกู้เงิน 20,000 ล้านบาท เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการตั้ง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562

สถานะทางการเงินกองทุนฯ ที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) ประกาศเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2564 มีสถานะติดลบแล้ว 3,072 ล้านบาท โดยแต่ละเดือนกองทุนฯมีภาระเงินไหลออกเพื่อพยุงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร, ชดเชยราคาน้ำมันจากพืชพลังงาน และตรึงราคา LPG ไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทำให้เกิดภาวะเงินไหลออกเดือนละ 6,000 ล้านบาทต่อเดือน

ดังนั้นในปี 2565 นี้ กระทรวงพลังงานคงต้องรอความหวังจาก เงินกู้ 20,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนฯ ให้พยุงราคาพลังงานได้ต่อเนื่อง ตามกติกาการกู้เงินที่กำหนดไว้ว่ากองทุนฯสามารถกู้ได้ครั้งละไม่เกิน 20,000 ล้านบาท และวงเงินในกองทุนฯต้องไม่เกิน 40,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามคาดว่าเงินกู้จะเข้าสู่กองทุนฯได้ประมาณเดือน มิ.ย. 2565 นี้ ดังนั้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 คงต้องติดตามว่ากระทรวงพลังงานจะออกมาตรการอะไรเพื่อลดภาระกองทุนฯและหยุดการไหลออกของเงินกองทุนฯ ลงบ้าง

  1. รัฐเร่งเดินหน้าแพคเกจส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า

ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) กลายเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก ขณะที่ประเทศไทยได้เร่งผลักดันอุตสาหกรรม EV และการใช้รถ EV อย่างเต็มที่ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลกำหนดนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือ รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ดังนั้นหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะมีรถ EV ในประเทศไทยครบ 1.2 ล้านคันก่อนปี 2579 แน่นอน

ล่าสุดกระทรวงพลังงานเปิดเผยถึงมาตรการส่งเสริมรถ EV ในปี 2565 ว่าจะส่งเสริมทั้งการใช้และการลงทุน รวมถึงมาตรการภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้รถ EV ในประเทศ โดยแพ็กเกจที่จะประกาศนี้จะสนับสนุนทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิต และ ลูกค้าที่ซื้อรถEV ซึ่งการสนับสนุนของรัฐบาลจะทำให้เกิดความต้องการใช้รถ EV ตามโรดแมปที่จะผลิตรถ EV ให้ได้ 10% ของการผลิตรถยนต์ในปี2568 และขยายไปถึง 30% ภายใน 2579 นั่นเอง

จากปัจจัยบวกของการใช้รถ EV ที่เป็นส่วนสำคัญในการลดภาวะโลกร้อน การประหยัดพลังงาน ลดการนำเข้าน้ำมัน และยังผลักดันอุตสาหกรรมรถ EV ในประเทศให้เติบโตระดับภูมิภาคอาเซียน ส่งผลให้ทุกฝ่ายเร่งเดินหน้าองค์ประกอบต่างๆ ที่สำคัญ ทั้งการตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า และการเตรียมแผนรองรับการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นจากการใช้รถ EV ในประเทศไทยอย่างคึกคักตลอดปี 2564 ที่ผ่านมา ดังนั้นในปี 2565 นี้อาจจะได้เห็นมาตรการที่สนับสนุนการใช้รถ EV อย่างชัดเจนและดึงดูดประชาชนให้เปลี่ยนไปใช้รถ EV มากขึ้น

  1. นำเข้า LNG ทดแทนแหล่งเอราวัณ กระทบค่าไฟฟ้าประชาชน

ในเดือน เม.ย. 2565 จะเป็นจุดสิ้นสุดของระบบสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณในอ่าวไทย ที่ดำเนินการโดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

โดยบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ ปตท.สผ. อีดี (ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ของ ปตท.สผ. ร่วมทุนกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งชนะการประมูลในแหล่งเอราวัณ(G1/61) เมื่อเดือน ธ.ค. 2561 ด้วยระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC ที่จะมารับช่วงต่อ จะผลิตก๊าซธรรมชาติได้ไม่ต่อเนื่องทำให้ได้ปริมาณก๊าซไม่เป็นไปตามสัญญาขั้นต่ำที่ตกลงไว้กับรัฐคือ 800 ล้านลูกบาศก์​ฟุตต่อวัน โดยจะผลิตได้เพียงประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์​ฟุตต่อวัน เท่านั้น ซึ่งปริมาณก๊าซฯ ที่ขาดไปอีกกว่า 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะผลิตเพิ่มจากแหล่งอาทิตย์และบงกช มาเติมได้อีกประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต้องเป็นการนำเข้าLNGมาทดแทน ซึ่งคิดเทียบเป็นปริมาณLNGที่ต้องนำเข้ากว่า 1.5 ล้านตันต่อปีต่อเนื่องกัน 2 ปี จากนั้นก๊าซจากแหล่งเอราวัณจึงจะกลับมาผลิตได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามข้อตกลง

สถานการณ์​ที่ราคาSpot LNGในเดือน ม.ค.และ ก.พ. 65 ยังสูงที่ระดับ 40-50 เหรียญสหรัฐ​ต่อล้านบีทียู หากหลัง เม.ย.65 ราคาไม่ปรับลดลง การนำเข้าLNGช่วงดังกล่าวเพื่อมาทดแทนก๊าซที่หายไปจากเอราวัณ จึงจะต้องกลายเป็นต้นทุนที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่าย ยาหอมจากคำพูดของรัฐมนตรีพลังงานเมื่อครั้งที่ ปตท.สผ.ชนะประมูลแหล่งเอราวัณ เมื่อ ก.พ.62 ที่บอกว่า คนไทยจะได้ค่าไฟถูกลง เพราะ ปตท.สผ.ประมูลได้ในราคาต่ำ คงจะไม่เป็นความจริงเพราะจะต้องบวกต้นทุนLNGราคาแพงที่นำเข้ามาทดแทนจากความไม่ต่อเนื่องเฉลี่ยรวมเข้าไปด้วย

  1. กระทรวงพลังงานเตรียมแพคเกจรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กกพ.แจง 2 ปี ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องช่วยรับภาระกว่าแสนล้าน

กระทรวงพลังงานประกาศแล้วว่า 10 ปีจากนี้จะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน แต่ต้องแลกมาด้วยผลกระทบต่อต้นทุนราคาค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องร่วมแบกรับ โดยจากข้อมูลคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ระบุว่า แต่ละปี ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องช่วยจ่ายเงินอุดหนุนพลังงานทดแทนตามนโยบายรัฐบาล ที่เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทน คิดเป็นต้นทุนประมาณ 30-32 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า ที่รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายทุกเดือน
โดยในปี 2563 ประชาชนแบกรับภาระการอุดหนุนไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนแล้ว 52,166 ล้านบาท และในปี 2564 อีก 56,554 ล้านบาท รวมแล้วประมาณ 108,720 ล้านบาท ซึ่งมาจากมาตรการสนับสนุนพลังงานทดแทนด้วยระบบการให้เงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า( Adder) และการสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ได้รับเงิน Adder อัตรา 8 บาทต่อหน่วย ที่มีสัญญาระยะ 10 ปี นั้น คาดว่าจะมีการผลิตไฟฟ้าครั้งสุดท้ายและหมดกลุ่มที่ได้รับ Adder ในปี 2567
อย่างไรก็ตามหากรัฐรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้นและให้การอุดหนุนด้านการเงิน ก็ย่อมเป็นภาระของประชาชนที่ต้องช่วยกันจ่าย โดยในปี 2565 นี้คาดว่าจะมีโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าระบบมากขึ้น ได้แก่ โรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน 200 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เป้าหมาย 500 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าขยายผล 140 เมกะวัตต์ และโครงการโซลาร์ภาคประชาชนอีก 50 เมกะวัตต์ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็น 5 ประเด็นด้านพลังงานในปี 2565 ที่ประชาชนผู้ร่วมรับภาระต้องติดตาม

Advertisment