DOW CHARITY RUN 2019 วิ่งรักษ์โลก ต้นแบบงานวิ่งลดขยะพลาสติกแบบ ZERO WASTE

1934
- Advertisment-

ประเทศไทยมีการจัดงานวิ่งเพื่อการกุศลและเพื่อส่งเสริมสุขภาพ โดยหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรวม ๆ กันในแต่ละปีมากกว่า 900 งาน ซึ่งหลายครั้งสิ่งที่ตามมาหลังจบงานคือขยะจำนวนมาก และถึงแม้จะยังไม่เคยมีหน่วยงานใดทำการเก็บสำรวจข้อมูลในส่วนนี้อย่างจริงจัง แต่เชื่อว่าสำหรับนักวิ่งด้วยกันเองแล้ว หรือรวมไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็น่าจะได้เคยเห็นภาพขยะกองใหญ่ที่สร้างภาระในการกำจัดทิ้ง จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดพลังของคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ต้องการขับเคลื่อนงานวิ่งให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเตือนให้ผู้คนในสังคมได้ตระหนักถึงการจัดการขยะภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

DOW CHARITY RUN 2019 “วิ่งเพื่อสุขภาพ เรียนรู้รักษ์โลก” ประเภท Fun Run ระยะทาง 5 กิโลเมตร ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ณ บริเวณศาลาแปดเหลี่ยม สวนลุมพินี กรุงเทพฯ โดยกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย มี  นักวิ่งเข้าร่วมกว่า 1,200 คน ถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบงานวิ่งแบบ ZERO WASTE หรือ ขยะเป็นศูนย์ ที่ตอบโจทย์สังคมในการดูแลสิ่งแวดล้อม ลดขยะและพลาสติก และสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับแนวทาง Circular Economy ผ่านกิจกรรมการวิ่ง และนิทรรศการที่นำมาจัดแสดงภายในงาน ตั้งแต่ชวนให้นักวิ่งใช้บริการรถสาธารณะเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน จนถึงพกพากระบอกน้ำส่วนตัวเพื่อลดการใช้แก้วพลาสติก

กิจกรรมเริ่มจากการรณรงค์ให้นักวิ่งทราบถึงประเภทของถังขยะภายในงาน ได้แก่ ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล และขยะทั่วไป เพื่อการคัดแยกขยะให้ง่ายต่อการนำไปใช้ให้เกิดคุณค่าต่อหลังจบงาน และลดจำนวนขยะปนเปื้อนที่เกิดขึ้นจากการแยกประเภทขยะไม่ดีพอ และการส่งเสริมให้นักวิ่งนำสิ่งที่ได้รับภายในงานไปใช้ประโยชน์ต่อ เช่น กล่องบรรจุภัณฑ์อาหารนำกลับไปใช้ซ้ำที่บ้านได้ เหรียญที่ระลึกซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากพลาสติก (ซิลิโคน) สามารถนำไปใช้เป็นที่รองแก้วน้ำได้ สายคล้องคอก็นำไปใช้เป็นสายคล้องบัตรพนักงาน หรือบัตรอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้ เพื่อสื่อสารให้ทุกคนได้รับรู้ว่าสิ่งของทุกอย่างนั้นสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือหมุนเวียนใช้ได้หลายครั้ง

- Advertisment -
นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เป็นบริษัทชั้นนำด้านวัสดุศาสตร์ที่เน้นสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คน จึงต้องการใช้งานนี้เป็นสื่อกลางสร้างกระแสให้ประชาชนเรียนรู้แนวทางแก้ปัญหาพลาสติกอย่างสร้างสรรค์ โดยผ่านนิทรรศการของดาวและพันธมิตรที่มาร่วมโครงการ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมสร้างสรรค์ไทย หรือ ตาวิเศษ ที่มาให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการหรือคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพจวน (WON) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมเศษพลาสติกเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยโครงการ “วน” จะรับซื้อเศษพลาสติกกลับมารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (Recycle Resin) เพื่อให้พลาสติกหมุนเวียนอยู่ในระบบ ช่วยลดปริมาณขยะที่หลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม

  

รวมทั้งนิทรรศการของกลุ่มพนักงานดาวอาสา ให้ความรู้เรื่องการเปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นทุนด้วยการนำเศษอาหารขยะเปียกมาแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพ น้ำยาทำความสะอาดชีวภาพ และปุ๋ยหมัก รวมไปถึงแนวทางการบริหารจัดการขยะชุมชน ที่ตอนนี้นำร่องไปแล้วในโครงการ “ระยองโมเดล” และ  “คลองเตยโมเดล” ที่จะสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกปนเปื้อนด้วยการนำไปผสมกับยางมะตอยเพื่อทำถนน นอกจากทำให้ถนนแข็งแรงมากขึ้นแล้ว ต้นทุนการสร้างถนนยังถูกลง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติกจากการนำไปขายได้ เนื่องจากขยะพลาสติกที่ประชาชนใช้แล้ว (Post-Consumer Plastic) เมื่อนำไปทิ้งส่วนใหญ่ก็จะนำไปฝังกลบ ยากต่อการย่อยสลาย ดาว จึงพยายามสื่อสารให้ประชาชนคัดแยกขยะ ซึ่งทำได้ง่าย ๆ คือ “เริ่มต้นที่ตัวเรา เริ่มทำที่ครอบครัวเรา เริ่มทำในบ้านเรา”

“นี่คืองานแรกที่นำงานวิ่งมาประกอบเข้ากับเรื่อง Sustainability ที่บริษัทให้ความสำคัญอย่างมาก ซึ่งจุดเริ่มต้นของ โครงการฯ มาจากการพูดคุยกันในกลุ่มพนักงาน 4-5 คน ประกอบกับในองค์กรก็มีชมรมวิ่งอยู่แล้ว จึงตัดสินใจร่วมกันว่าจะ ทดลองจัดงานวิ่ง ที่นอกจากจะส่งเสริมและกระตุ้นให้พนักงานได้ออกกำลังกายแล้ว ยังส่งผลดีต่อสังคมในเรื่องการจัดการขยะ โดยคาดหวังให้ DOW CHARITY RUN 2019 ครั้งนี้ เป็นงาน ZERO WASTE เพื่อให้ประชาชนได้เห็นเป็นตัวอย่าง เปลี่ยนพฤติกรรมและนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์” นายฉัตรชัยกล่าว

โครงการ DOW CHARITY RUN 2019 เปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมวิ่ง และมีส่วนร่วมนำเงินรายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่ายมอบให้สภากาชาดไทย เพื่อสมทบทุนโครงการศัลยกรรมตกแต่งแก้ไขปากแหว่ง-เพดานโหว่ และความพิการอื่น แก่ผู้ป่วยที่ยากไร้และอยู่ในชนบทห่างไกล ขาดโอกาสได้รับการผ่าตัด ซึ่งจะช่วยเด็ก ๆ ให้ได้รับการผ่าตัดในระยะเวลาที่เหมาะสม ทำให้สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ โดยสามารถระดมทุนบริจาคได้ถึง 1.5 ล้านบาท

จริยา ศุภนันทพร และ ธีระพล รัตนเดช ผู้เข้าร่วมโครงการ DOW CHARITY RUN 2019 กล่าวว่า จากการได้เข้าร่วมโครงการฯ ทำให้เห็นว่า ดาว เป็นบริษัทหนึ่งที่คืนกำไรให้กับสังคม มีการสอดแทรกความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ วิธีการทำน้ำหมักที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และความพิเศษคือนำรายได้ทั้งหมดมอบให้กับสภากาชาดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายซึ่งแตกต่างจากงานอื่น ๆ  ส่วนการคัดแยกขยะนั้น โดยส่วนตัวทำเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถุงผ้าเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก การพกพาขวดน้ำเพื่อลดการใช้ขวดพลาสติก เพราะปัจจุบัน มีร้านค้าหลายแห่งที่ร่วมโครงการลดการใช้พลาสติก โดยให้ส่วนลดกับลูกค้าที่นำแก้วน้ำมาเอง ซึ่งวิธีการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนสามารถทำและช่วยสังคมได้ เพราะหากรอให้บริษัทขนาดใหญ่ทำเพียงอย่างเดียว ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะจำกัดอยู่แค่กลุ่มเล็ก ๆ แต่หากทุกคนเริ่มก็จะช่วยขยายผลไปได้ในวงกว้างมากขึ้น

จริยา ศุภนันทพร และ ธีระพล รัตนเดช ผู้เข้าร่วมโครงการ
ณัฐ จันทวงศ์ พนักงาน กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย

ณัฐ จันทวงศ์ พนักงาน กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวถึงความแตกต่างของโครงการ DOW CHARITY RUN 2019 ว่างานวิ่งทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะในต่างจังหวัดมักจะมีปัญหาขยะจากแก้วน้ำ ขวดน้ำ กระจัดกระจายเต็มถนน และไม่สามารถจัดเก็บได้ทั้งหมด แต่กิจกรรมครั้งนี้มุ่งเน้นคอนเซปต์ Circular Economy คือการลดขยะ และนำขยะไปรีไซเคิล เศษอาหารหรือเปลือกกล้วยก็นำไปทำปุ๋ยได้ ทำให้ขยะที่เกิดจากงานนี้ไม่หลุดรอดออกไปสู่สิ่งแวดล้อม โดยต้องการให้งานวิ่งดังกล่าว นอกจากเป็นจุดเริ่มต้นในการออกกำลังกายแล้ว ยังเปิดโอกาสให้นักวิ่งได้ทดลองคัดแยกขยะ เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คิดก่อนทิ้ง แล้วนำกลับไปปรับใช้ในครอบครัวหรือในที่ทำงาน เพราะยอมรับว่าปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยล้วนเกิดจากคนที่ไม่ตระหนักถึงการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง พร้อมกับขอความร่วมมือนักวิ่งให้ตระหนักถึงการทิ้งขยะให้ถูกที่ ไม่สร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อม

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย

นายฉัตรชัย กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีขยะพลาสติกประมาณ 20% ของขยะทั้งหมด หรือคิดเป็นประมาณ 2 ล้านตัน ในจำนวนนี้มีเพียง 500,000 ตัน หรือคิดเป็น 25% เท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิล ส่วนอีก 75% ถูกนำไปฝังกลบและมีบางส่วนที่ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองออกสู่ทะเล แต่หากสามารถนำขยะพลาสติกกลับมาหมุนเวียนสู่วงจรนำไปใช้ให้เกิดมูลค่าและเป็นประโยชน์สูงสุดด้วยกระบวนการ 3Rs คือ ลดการใช้ (Reduce) นำกลับมาใช้ (Reuse) และรีไซเคิล (Recycle) จะมีส่วนกระตุ้นให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

“เราหวังว่ากิจกรรมครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกคนตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของการบริหารจัดการขยะ เปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ป้องกันไม่ให้หลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญยังนำไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันหลังจากนี้ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี อีกทั้งเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมอย่างสูงสุด” นายฉัตรชัยกล่าวสรุป

Advertisment