Dow ร่วมพันธมิตรพลาสติกโลก รุกจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนในไทยและภูมิภาค

436
- Advertisment-

Dow ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรกำจัดขยะพลาสติกโลก AEPW เดินหน้าผลักดันแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพันธมิตร AEPW ตั้งเป้าลงทุนกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใน 5 ปี เพื่อสนับสนุนโครงการที่มีศักยภาพในการพัฒนาแนวทางการจัดการพลาสติกหลังการใช้งาน มุ่งผลสำเร็จลดขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในมหาสมุทรอย่างยั่งยืน 

วันนี้ (27 ส.ค. 2562) เครือข่ายพันธมิตรเพื่อกำจัดขยะพลาสติก หรือ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ร่วมจัดเวทีเสวนา “The Alliance to End Plastic Waste : A New Cross-Value Chain Synergy to remove Plastic Waste from the Environment” เพื่อเปิดตัวความร่วมมือดังกล่าวในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีตัวแทนสมาชิก AWPW อาทิ ตัวแทนจากบริษัท ดาว (Dow) , SCG, Procter & Gamble, SUEZ, LyondellBasell  และ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) เข้าร่วมเวทีเสวนาด้วย

ทั้งนี้ AEPW เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มบริษัทผู้ประกอบการชั้นนำของโลกตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม (cross-value chain) ที่ผลิต ใช้ ขาย แปรรูป จัดเก็บ และ รีไซเคิล ซึ่งรวมตั้งแต่ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์และผู้ประกอบการพลาสติก บริษัทผลิตสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค บริษัทค้าปลีก บริษัทแปรรูปสินค้า ไปจนถึงบริษัทจัดการขยะ เพื่อวางแผนกลยุทธ์การจัดการขยะพลาสติกและดำเนินการอยู่บนรากฐานสำคัญ 4 ด้าน คือ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนานวัตกรรม การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วม และการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยล่าสุด กลุ่มพันธมิตร AEPW มีสมาชิก 40 บริษัท จากภูมิภาคอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง

- Advertisment -

โดย AEPW เห็นว่าปัญหาขยะพลาสติกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากพบว่าขยะพลาสติกราว 60% ในมหาสมุทร มีต้นกำเนิดมาจาก 5 ประเทศในภูมิภาคนี้ จึงเป็นความท้าทายที่จะต้องเร่งแก้ไข ทั้งนี้ จากเวทีเสวนา พบว่าปัญหาการจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทยและหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหลายประการ อาทิ การขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ระบบการคัดแยกขยะ การจัดการที่ขาดความรู้ เช่น ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลองซึ่งจะนำไปสู่การหลุดรอดออกสู่มหาสมุทร การขาดความเข้าใจและตระหนักรู้ในการจัดการพลาสติกหลังใช้แล้ว ที่มีการใช้เพียงครั้งเดียว ไม่นำกลับมาใช้ซ้ำ และไม่นำพลาสติกกลับสู่กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะพลาสติกได้

ทั้งนี้ AEPW จะเข้ามาดำเนินการช่วยแก้ไขประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ผ่านกระบวนการ อาทิ สนับสนุนการริเริ่มโครงการความร่วมมือต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการจัดการขยะพลาสติก รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆและภาครัฐเพื่อหาแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนมอบเงินลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneur ที่มีแนวคิดและศักยภาพที่จะดำเนินโครงการที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Impact) กับการจัดการขยะพลาสติก

นายจอน เพนไรซ์ ประธาน บริษัท ดาว ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (คนที่สองจากขวา)

นายจอน เพนไรซ์ ประธาน บริษัท ดาว ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนา ความร่วมมือภายใต้พันธมิตร AEPW มีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทุกองคาพยพตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม โดยเป้าหมายไม่ใช่เพื่อหาสาเหตุของปัญหาเพราะเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว แต่มุ่งไปที่แนวทางการจัดการปัญหา หรือ solutions ซึ่งด้วยความที่เป็นความร่วมมือในสเกลใหญ่ที่บริษัทระดับโลกกว่า 40 บริษัทมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ที่จะแก้ปัญหาในระดับภูมิภาค จึงเป็นข้อได้เปรียบและนำไปสู่ความสำเร็จของโครงการได้

“ภารกิจครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการกล่าวถึงแผนการเท่านั้น แต่ถึงเวลาที่เราต้องนำแผนไปสู่การปฏิบัติจริง”

จอนกล่าวด้วยว่า หนึ่งในแนวทางการจัดการขยะพลาสติก หรือ solutions ที่ Dow ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ SCG ดำเนินการในประเทศไทย คือ การสร้างถนนพลาสติก โดยเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นส่วนประกอบในการทำถนนยางมะตอย ซึ่งถนนที่ได้จะมีอายุการใช้งานนานขึ้นและทนมากขึ้น เป็นตัวอย่าง solution หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราสามารถรีไซเคิลและเพิ่มมูลค่าให้ขยะพลาสติกได้

นอกจากนั้น ในประเทศไทย Dow ยังมีความร่วมมือกับภาครัฐและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักวิชาการและองค์กรท้องถิ่นภายใต้พันธมิตร PPP Plastic (Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management) หรือโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน มีเป้าหมายในการประชาสัมพันธ์แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และให้ความรู้เรื่องการแยกขยะเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการรีไซเคิลขยะพลาสติกให้ได้ทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2570

Advertisment