BGRIM มั่นใจฝ่าโควิด-19 ลุยปิดดีล M&A หลายโครงการ ดันผลการดำเนินงานปี 2563 โต 10-15%

1044
ปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGRIM
- Advertisment-

บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM มั่นใจสามารถฝ่าวิกฤตโควิด-19 ปิดดีลการเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions -M&A) ได้อีกหลายโครงการภายในปี 2563 นี้ อีกทั้งลุยเพิ่มยอดขายลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม หวังผลการดำเนินงานโตขึ้นอีก 10-15% จากปีที่แล้ว พร้อมใช้จุดแข็งขององค์กรแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจในอนาคต ทั้งเรื่อง Energy Smart Solutions และ Smart Microgrid รวมทั้งการ diversify สร้างความหลากหลายทางธุรกิจเป็นผู้จัดหาและค้าส่ง LNG ในประเทศ นำองค์กรฝ่าวิกฤตโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย (recession) ได้อย่างไม่มีปัญหา

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ให้สัมภาษณ์กับ ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center – ENC ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจของบริษัทฯ มากนักเมื่อเทียบกับภาคธุรกิจอื่นๆ เนื่องจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทฯ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้รับคำสั่งให้เดินเครื่องตามสัญญา ที่เรียกว่า must run และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) รวมถึงรัฐวิสาหกิจในต่างประเทศ ทำให้ยังมีรายได้ที่แน่นอนในสัดส่วนมากกว่า 70%  ในขณะที่อีกไม่ถึง 30% เป็นลูกค้าอุตสาหกรรม ที่มีความหลากหลายของลูกค้า แม้จะมีผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ลูกค้าบางกลุ่มอุตสาหกรรมยังเติบโตได้ดี เช่น กลุ่มบรรจุภัณฑ์ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยบริษัทฯ สามารถเพิ่มลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมได้ต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทฯ มีลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 130 รายจากจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมดมากกว่า 1,500 แห่งในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ และในปีนี้คาดว่าจะสามารถขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอีก 31 เมกะวัตต์

ในส่วนของสภาวะเศรษฐกิจโลก นั้น นางปรียนาถกล่าวว่า บี.กริม เอง มีการปรับตัวรับมือกับเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว เช่น มีการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าโดยการลด Heat Rate ให้ใช้ปริมาณเชื้อเพลิงน้อยลงในการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิตไฟฟ้า รวมถึงมีการฝึกอบรมบุคลากรให้มีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ

- Advertisment -

นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังเดินหน้าในการเจรจาเพื่อเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ ( Mergers and Acquisitions – M&A) ในธุรกิจไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement – PPA) ระยะยาว ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในสร้างการเติบโตให้กับบริษัท โดยในครึ่งหลังของปี 2563 จะมีอีกหลายโครงการที่น่าจะปิดดีลได้สำเร็จ ประกอบด้วยโครงการในประเทศ 2-3 โครงการ ในเวียดนาม 1 โครงการ และที่มาเลเซียอีก 1 โครงการ โดยที่ผ่านมา กิจการที่ทางบริษัทเข้าไปทำ M&A มีหลายโครงการ อาทิ โครงการอ่างทอง เพาเวอร์ กำลังการผลิตติดตั้ง 123 เมกะวัตต์ ที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 ตั้งอยู่ใน ตำบลไชยภูมิ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. จำนวน 90 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 25 ปี โครงการที่มาบตาพุด  โครงการ บี.กริม เพาเวอร์ (เอไออี-เอ็มทีพี) (ชื่อโครงการเดิม โกลว์ เอสพีพี 1) และโครงการที่แหลมฉบัง โครงการ บี.กริม เพาเวอร์ (แหลมฉบัง) 1 และบี.กริม เพาเวอร์ (แหลมฉบัง) 2  ที่มี PPA อยู่แล้วเช่นกัน ต่างประสบความสำเร็จในการให้ผลกำไรที่มากขึ้น

“เราเห็นว่ายังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมากที่จะเข้าไปทำ M&A และใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่มีสั่งสมมายาวนานในธุรกิจไฟฟ้า เข้าปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าที่เข้าซื้อหรือควบรวมกิจการให้สูงขึ้นและทำกำไรให้เพิ่มขึ้นจากเดิมได้” นางปรียนาถ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจใหม่ๆ ที่จะสร้างการเติบโตด้านรายได้ให้บริษัทฯ เพิ่มขึ้น เช่น Energy Smart Solutions ที่เป็นการเข้าไปช่วยตอบโจทย์ลูกค้าให้สอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น  โดยบริษัทฯ มีจุดแข็งในเรื่องของทีมบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวกับ smart microgrid และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานไฟฟ้า ที่จะเข้ามารองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมไฟฟ้าในอนาคต ที่โรงไฟฟ้าจะต้องเกิดการ Decentralized หรือ การกระจายการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น โดยโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จะมีความต้องการให้มีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กไปตั้งอยู่ใกล้ๆ เพื่อให้การจ่ายกระแสไฟฟ้ามีเสถียรภาพ และลดการสูญเสียในระบบสายส่ง

“จากการดำเนินการตามที่กล่าวมา คาดว่าในปี 2563 นี้ บริษัทฯจะมีผลประกอบการเติบโตขึ้นประมาณ 10-15% เมื่อเทียบกับปี 2562” นางปรียนาถกล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนสร้างความหลากหลายทางธุรกิจ (diversify) ไปสู่ธุรกิจจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ หรือ shipper ซึ่งยังเป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงกับธุรกิจหลักอยู่ โดยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่จะเริ่มนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ปริมาณ 6.5 แสนตันต่อปี เพื่อป้อนโรงไฟฟ้า SPP ของบริษัทฯ จำนวน 5 โรงที่สร้างใหม่ ซึ่งจะเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าในปี 2565 โดยมีการเจรจากับผู้ผลิต LNG หลายราย ที่เสนอราคาต่ำกว่าราคา Pool Gas ค่อนข้างมาก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมที่จะมีโอกาสลดต้นทุนค่าไฟฟ้า รวมทั้งค่าไฟฟ้าที่ขายให้ กฟผ. ตามสัญญา ก็จะมีโอกาสลดลง ซึ่งจะทำให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูกลงด้วย

สำหรับการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะเวียดนาม นางปรียนาถกล่าวปิดท้ายว่า ยังมีโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้า LNG to Power ที่ใกล้จะมีการลงนามในสัญญาระหว่างกันแล้ว

 

Advertisment