BGRIM ปิดดีลซื้อหุ้น 70% โรงไฟฟ้า SPP อ่างทองเพาเวอร์ ขนาด 123 MW ตอกย้ำการเป็นหนึ่งในผู้นำโรงไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรม

1935
- Advertisment-

บี.กริม เพาเวอร์ ‘BGRIM’ หนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจและจำหน่ายไฟฟ้าเอกชน โชว์ศักยภาพซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าอ่างทอง เพาเวอร์ ขนาด 123 เมกะวัตต์ มูลค่า 2,520 ล้านบาท ตอกย้ำการเป็นหนึ่งในผู้นำด้านผู้ผลิตไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรม (เอสพีพี) ผลักดันกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาเพิ่มเป็น 3,547 เมกะวัตต์ เผยทยอยเซ็นสัญญาลูกค้าใหม่ต่อเนื่องจะเข้ามาอีก 31 เมกะวัตต์ในปีนี้ และมีอีกหลายรายที่อยู่ระหว่างเจรจาคาดว่าจะสรุปได้ในเร็วๆนี้

ปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM เปิดเผยว่า บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ชลบุรี) 2 จำกัด (บริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 100%) ในฐานะผู้ซื้อ/รับโอนหุ้น ได้บรรลุความสำเร็จตามสัญญาซื้อขายหุ้น (Share Purchase Agreement) กับ Redman Pacific Holding Pte.Ltd. (ซึ่งมิได้เป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัท) ในฐานะผู้ขาย/ผู้โอนหุ้น เพื่อเข้าถือหุ้นจำนวน 70% ของหุ้นทั้งหมดในบริษัท อ่างทอง เพาเวอร์ จำกัด

โดยบริษัท อ่างทอง เพาเวอร์ จำกัด เป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าอ่างทอง เพาเวอร์ เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม กำลังการผลิตติดตั้ง 123 เมกะวัตต์ เปิดดำเนินการเมื่อปี 2559 ตั้งอยู่ใน ตำบลไชยภูมิ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทองโดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 90 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 25 ปี สำหรับมูลค่าซื้อขายหุ้นรวมอยู่ที่ 2,520 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่ได้รับอนุมัติโดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2562 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562

- Advertisment -

ความสำเร็จในครั้งนี้ส่งผลให้ บี.กริม เพาเวอร์ ‘BGRIM’ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 3,019 เมกะวัตต์ จากโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว 47 โครงการ นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาและก่อสร้างโครงการอีกหลายแห่งที่จะขยายกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 3,547 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามเป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้ง 5,000 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในปี 2565

สำหรับการประเมินผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกและไวรัส COVID-19 นั้น รายได้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจนัก อันเนื่องมาจากเป็นสัญญาซื้อขายไฟกับ กฟผ. ในลักษณะ take or pay และเป็นรายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในแต่ละประเทศ

ในส่วนของรายได้ 25% จากการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมนั้น บริษัทได้ติดตามสถานการณ์และปริมาณการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าอย่างใกล้ชิด ด้วยความหลากหลายของกลุ่มลูกค้าทำให้ยอดการใช้ไฟฟ้าโดยรวมค่อนข้างมั่นคง โดยยอดใช้ไฟฟ้าจากลูกค้าอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในในอัตรา 0.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มียอดใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มบรรจุภัณฑ์ และผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ

นอกจากนี้ บริษัทมีลูกค้าใหม่อีกหลายรายรวมจำนวน 31 เมกะวัตต์ที่ส่วนใหญ่มีกำหนดการเริ่มจ่ายไฟในช่วงไตรมาส 2-3 ปี 2563
ทั้งนี้ ยังมีความต้องการไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพอีกจำนวนมากในพื้นที่ที่โรงไฟฟ้าของบริษัทตั้งอยู่ อาทิเช่น ความต้องการจากกลุ่มธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ปิโตรเคมี และผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับพลังงานทดแทน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าของบริษัทเพียง 130 รายจากจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมดมากกว่า 1,500 แห่งในนิคมอุตสาหกรรมเหล่านั้น

Advertisment