กกพ.รับฟังความเห็นร่างจัดหาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน ถึง27 มี.ค.นี้ เผยมีทั้งบทปรับและยกเลิกสัญญา ริบเงินประกัน หากพบมีการกระทำผิด

- Advertisment-

เหลืออีก10 วันในการเปิดรับฟังความเห็นระเบียบหลักเกณฑ์จัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ใน โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ผ่านทางเว็บไซต์ กกพ. www.erc.or.th ที่ให้แสดงความเห็นได้ตั้งแต่วันที่13-27 มี.ค. 2563 โดยมีสาระสำคัญที่มีข้อห้ามเปลี่ยนแปลงเชื้อเพลิง ปริมาณและสายป้อนfeeder หรือนำเชื้อเพลิงอื่นหรือไฟฟ้าอื่นเข้าระบบ หากพบผิดมีโทษปรับ 5,000 บาทต่อกิโลวัตต์ รวมทั้งต้องวางเงินประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 500 บาทต่อกิโลวัตต์ด้วย โดย หากไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญาภายใน 360 วันนับแต่วันลงนามSCOD  จะถือว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสิ้นสุดและมีการริบหลักประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้มีการเปิดรับฟังความเห็น “ร่าง ระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก พ.ศ. ….” ทางเว็บไซต์  www.erc.or.th ระหว่างวันที่ 13-27 มี.ค. 2563 ซึ่งยังเหลือระยะเวลาที่เปิดให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอีกเพียงประมาณ10วัน

ทั้งนี้ในส่วนของนโยบายจากกระทรวงพลังงานนั้น จะเปิดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภท Quick Win ในปริมาณไม่เกิน100เมกะวัตต์ให้แล้วเสร็จก่อน จากนั้น จึงจะมีการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภททั่วไป ในปริมาณที่เหลือ ประมาณ 600 เมกะวัตต์

- Advertisment -

สำหรับสาระสำคัญ“ร่าง ระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก พ.ศ. ….”ในส่วนของกกพ. ที่มีหน้าที่ในการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าตามกฏหมายนั้น  มีประเด็นที่น่าสนใจคือ การห้ามผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก(VSPP) หรือผู้ผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 10 เมกะวัตต์​ที่ได้ยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้าแล้ว เปลี่ยนแปลงข้อมูลด้านประเภทพลังงานหมุนเวียน,ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายตามแต่ละประเภทของพลังงานหมุนเวียน และ สายป้อน (Feeder) ที่โครงการเชื่อมโยง

การให้ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากสามารถใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ได้ 4 ประเภท คือ 1.ชีวมวล 2.ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 3.ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และ 4.เชื้อเพลิงแบบผสมผสาน (Hybrid) ระหว่าง ชีวมวล และ/หรือ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และ/หรือ ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์

โดยที่ห้ามนำเชื้อเพลิงอื่น นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในระเบียบมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า หรือนำพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งอื่นมาขายเข้าระบบ

ทั้งนี้หากมีการฝ่าฝืนจะถือว่าผิดสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และให้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าสิ้นสุดลง โดยผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากจะต้องเสียค่าปรับ 5,000 บาทต่อ กิโลวัตต์ ตามปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายที่ระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

นอกจากนี้ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ใช้ในการ เชื่อมโยงระบบไฟฟ้าหรือปรับปรุงระบบไฟฟ้า การตรวจสอบระบบอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อนการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

พร้อมกันนี้ให้วางหลักประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายก่อนวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า จำนวน 500 บาทต่อกิโลวัตต์ตามปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขาย โดยจะคืนหลักประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้านับแต่วันผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD)

กรณีที่ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ตามกำหนด ทางการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายมีสิทธิคิดค่าปรับจากการล่าช้าได้ในอัตรา 0.33% ต่อวัน ของวงเงินหลักประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายหลังจากครบ 60 วัน นับแต่วันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ที่ระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (SCOD) เว้นกรณีเหตุสุดวิสัยหรือจากความผิดของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย  และถ้าไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในระยะเวลา 360 วันนับแต่วัน SCOD แล้ว ให้ถือว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสิ้นสุด และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายคือ กฟภ.และกฟน.มีสิทธิริบหลักประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ทันที

สำหรับอัตราซื้อขายไฟฟ้ากำหนดให้ใช้ในรูปการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง(FiT) เป็นเวลา 20 ปี ได้แก่ ประเภทที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 2.90 บาทต่อหน่วย,ชีวมวลที่กำลังผลิตน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 เมกะวัตต์อัตรารับซื้อ 4.84 บาทต่อหน่วย หากกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ อัตรา 4.26บาทต่อหน่วย ส่วนก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย)อัตรา 3.76 บาทต่อหน่วย สำหรับก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน) แบ่งเป็นกรณีพืชพลังงาน 100% อัตรา 5.37บาทต่อหน่วย กรณีผสมน้ำเสีย/ของเสียน้อยกว่าหรือเท่ากับ 25% อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย แต่หากเป็นโครงการที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้(ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) และอีก 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (จะนะ,เทพา,สะบ้าย้อย,นาทวี) จะได้รับการบวกเพิ่มอัตรารับซื้ออีก 50 สตางค์ต่อหน่วย

ทั้งนี้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากสามารถ ยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายตามพื้นที่ ได้แก่  การไฟฟ้านครหลวง ฝ่ายเศรษฐกิจพลังไฟฟ้า อาคาร 16 ชั้น 5 เลขที่ 121 ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 และที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กองส่งเสริมพลังงานทดแทนและผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก เลขที่ 200 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

โดยเมื่อคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีปลัดกระทรวงพลังงาน ได้พิจารณาคัดเลือกแล้ว จะจัดส่งรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณามายังการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายและ กกพ. เพื่อประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกที่มีสิทธิลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป

Advertisment

- Advertisment -.