เมื่อประเทศไทยกำลังเดินหน้ามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2065 ที่สอดรับกับกระแสของโลก หนึ่งในประเด็นที่ผู้คนส่วนหนึ่งมีคำถามก็คือแล้วเราจะทำอย่างไรกับโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย ที่ในวงวิชาการรู้กันดีว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศในสัดส่วนที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิลเช่นเดียวกันก็ตาม
อย่างไรก็ตามเราควรทำความเข้าใจเบื้องต้นถึงเหตุผล ความจำเป็น และข้อดีของการมีโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศเสียก่อน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าแม่เมาะของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์ซึ่งมีแหล่งสำรองอยู่ในประเทศ ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือการใช้เชื้อเพลิงที่มีอยู่ในประเทศมาผลิตกระแสไฟฟ้าคือการช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และที่สำคัญ โรงไฟฟ้าแม่เมาะนั้นมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำที่สุดในบรรดาโรงไฟฟ้าประเภทที่ใช้เชื้อเพลิง นอกจากจะช่วยให้ค่าเฉลี่ยต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนทั้งประเทศต่ำลงแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าในพื้นที่ภาคเหนือของไทยด้วย นอกจากนี้ ทุกการผลิตไฟฟ้าในแต่ละหน่วยของโรงไฟฟ้าแม่เมาะจะถูกแบ่งรายได้ 2 สตางค์ต่อหน่วยเข้าไปยังกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(3) เพื่อการพัฒนา หรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า (จัดอยู่ในประเภทกองทุนขนาดใหญ่) ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นำไปจัดสรรวงเงินส่งกลับไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นในด้านต่างๆ ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะและจังหวัดลำปาง
ในขณะที่ประเด็นของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะต้องแก้ให้ได้เพื่อไม่ให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นตัวถ่วงการเดินหน้าสู่เป้าหมายการปรับลดคาร์บอนของประเทศ ทาง กฟผ. จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่าง Carbon Neutrality Roadmap ซึ่งมีผู้แทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะร่วมในคณะดังกล่าว เพื่อทำหน้าที่ในการหาวิธีลดการปล่อย CO2 ให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และเมื่อเร็วๆ นี้ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ได้มีการเปิดตัวโครงการดักจับ CO2 ด้วยน้ำขี้เถ้าที่มาจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 14 ที่มีงานศึกษาวิจัยและจัดทำเครื่องต้นแบบโดยอาศัยวิธีการ Mineral Carbonation



นายอรรถพล อิ่มหนำ ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิต โรงไฟฟ้าแม่เมาะ อธิบายเพิ่มเติมว่าทางโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีการตั้งคณะทำงานศึกษาเทคโนโลยีใหม่มาใช้ มีคณะทำงาน CCUS (Carbon Capture Utilization and Storage) ซึ่งมีการดำเนินการโครงการดักจับ CO2 ด้วยน้ำขี้เถ้าที่มาจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 14 โดยคณะทำงานได้ศึกษาว่าน้ำขี้เถ้าอยู่ใต้เตาของกระบวนการผลิตมีศักยภาพที่จะนำมาใช้ในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ และได้ศึกษาการทำปฏิกิริยาระหว่างคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำขี้เถ้า ปรากฏว่าน้ำขี้เถ้ามีศักยภาพดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ โดยตัวของน้ำขี้เถ้าเองมีค่าความเป็นด่างสูง ค่า PH ประมาณ 11-12 ศักยภาพตรงนี้จึงน่าจะใช้ประโยชน์ในการเอามาดักจับ CO2 ได้ โดยอุปกรณ์ของเครื่องต้นแบบจะมีการต่อท่อเพื่อที่จะดึงแก๊สก่อนที่จะไปออกปล่องมาเมื่อผ่านกระบวนการดักจับด้วยน้ำขี้เก้า CO2 ที่มีอยู่ประมาณ 13% จะลดเหลือประมาณ 4-5%

โดยน้ำขี้เถ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 14 มีปริมาณน้ำขี้เถ้าที่ไหลผ่าน (flow rate) อยู่ที่ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ปัจจุบันใช้น้ำขี้เถ้าในการทดลองดักจับ CO2 อยู่ที่ 14 ลิตรต่อนาที หรือคิดเป็น 4.3 กรัมของ CO2 ดังนั้น หากใช้งานน้ำขี้เถ้าที่ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง จากการคำนวณจะสามารถดักจับ CO2 ได้ถึงปีละ 850 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นเป้าหมายในอนาคตที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะจะดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ ในการดักจับ CO2 นั้นมีหลายวิธี โดยส่วนใหญ่จะใช้สารเคมีและต้องสร้างโรงงานสำหรับดักจับโดยเฉพาะ ซึ่งใช้งบประมาณในการดำเนินงานที่สูงมาก แต่ในส่วนของโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ศึกษาทดลองใช้น้ำขี้เถ้าใต้เตาของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 14 ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นด่าง เมื่อผสมเข้ากับ Fuel Gas ที่มี CO2 น้ำด่างจะสามารถดักจับ CO2 ได้ และเกิดวัตถุพลอยได้จากกระบวนการผลิตเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งมีประโยชน์ในการดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตได้ด้วย จึงเป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือใช้ที่โรงไฟฟ้ามีอยู่แล้วที่ดูคุ้มค่าต่อการลงทุนมากกว่า


ในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านพลังงาน หรือ Energy Transition จากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนตามที่ตั้งเอาไว้ในขั้นต้น ซึ่งยังมีเวลาสำหรับพิสูจน์ความพยายามของทางโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และ กฟผ. โดยหากโครงการดักจับ CO2 ด้วยน้ำขี้เถ้าสามารถขยายผลสู่โครงการนำร่องขยายการดักจับ CO2 ได้ตามปริมาณที่ตั้งเอาไว้ จะช่วยให้การมีอยู่ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะนั้นตอบโจทย์ได้ทั้ง มิติด้านเศรษฐกิจ คือ ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำ มิติด้านสิ่งแวดล้อม คือ การเป็นโรงไฟฟ้าที่ลดการปล่อย CO2 และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และมิติด้านสังคม คือ ช่วยพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเป็นอีกแรงขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมสู่ความยั่งยืนต่อไป
