ในช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันขยับ “ขึ้น-ลง” รุนแรง ตามแรงกดดันจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะวิกฤตสงครามในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอล และอิหร่าน หลายประเทศทั่วโลกเริ่มตระหนักว่า “ราคาพลังงาน” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง แต่ผันผวนตามแรงเหวี่ยงของเหตุการณ์ที่ไม่มีใครควบคุมได้
ในขณะที่ราคาน้ำมันโลกพุ่งทะยาน ราคาน้ำมันดิบดูไบ เคยพุ่งไปแตะระดับ 76.85 เหรียญฯ/บาร์เรล น้ำมันดีเซลขึ้นสูงสุดที่ระดับ 97.26 เหรียญฯ/บาร์เรล และน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้นเกือบ 90 เหรียญฯ/บาร์เรล แต่คนไทยยังสามารถเติมน้ำมันดีเซลในราคา 31.94 บาท/ลิตร ได้อย่างต่อเนื่อง
นี่ไม่ใช่เพราะ “ราคาตลาดไทยถูกกว่าตลาดโลก” ไม่ใช่เพราะ “กลไกตลาดทำงานได้เอง” แต่เพราะประเทศไทยมีกลไกของ “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ที่ถูกออกแบบขึ้นมาให้ทำหน้าที่เฉพาะในสถานการณ์เช่นนี้ “พยุงราคา และรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ” ตามบทบาทที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
ในช่วงเวลาเพียง 12 วันของวิกฤต (13–24 มิ.ย. 2568) หรือ “สงคราม 12 วัน” ตามที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” เรียกไว้ “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” โดยการตัดสินใจของ กบน. (คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง) ได้ออกมติต่อเนื่องถึง 5 ครั้ง ภายในหนึ่งสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 16-17, 19-20 และ 23 มิ.ย.2568 ที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้เพื่อปรับลดอัตราเงินชดเชยราคาน้ำมันดีเซล และเบนซินให้กับประชาชน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคขนส่ง และการดำรงชีวิตประจำวัน ทำให้คนไทยยังคงเติมน้ำมันดีเซลได้ในราคาเดิมที่ 31.94 บาท/ลิตร ทั้งที่ราคาตลาดโลกผันผวนหนัก ซึ่งหากไม่มีการพยุงราคาไว้ ราคาดีเซลจะต้องบวกเพิ่มไปอีกกว่าลิตรละ 3 บาท
นี่ไม่ใช่เวทมนตร์ .. แต่คือการตัดสินใจที่ยืนอยู่บนหลักกฎหมาย ภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 อย่างมีวินัย และแน่นอนว่า “การพยุงราคาน้ำมันไม่ใช้เรื่องฟรี” รายรับของกองทุนน้ำมันฯ ที่เคยเป็นบวกในช่วงต้นเดือน ต้องกลับมาติดลบกว่า 40 ล้านบาท/วัน เฉพาะจากกลุ่มน้ำมันดีเซล

โดยเรื่องดังกล่าว กบน. ก็ยังยืนยันที่จะใช้กลไกนี้อย่างเต็มที่ เพราะรู้ดีว่าหากปล่อยให้ราคาน้ำมันพุ่งโดยไร้การควบคุม คนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือประชาชน คนหาเช้ากินค่ำ รถโดยสาร ขนส่งสินค้า แม่ค้าตลาดนัด ผู้ใช้แรงงาน และทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ
หลายคนเคยตั้งคำถามว่า “ทำไมต้องมีเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปคอยชดเชย?” วันนี้คำตอบชัดเจน เพราะไม่มีทางเลือกอื่นที่รวดเร็ว เท่าทัน และตรงจุดเท่ากลไกนี้ หากกองทุนน้ำมันฯ ไม่เข้ามาทำหน้าที่ รัฐก็ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมารองรับ หรือปล่อยให้ราคาลอยตัวแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งสุดท้ายแล้วผลกระทบก็จะตกอยู่ที่ประชาชนในทันที
กองทุนน้ำมันฯ จึงไม่ใช่ “ตัวร้าย” ที่จัดเก็บเงินตอนน้ำมันราคาถูก แต่คือ “กันชน” ที่ดูดซับแรงกระแทกในวันที่น้ำมันแพง และเป็น “เครื่องมือเชิงนโยบาย” ที่ประเทศจำเป็นต้องมี เพื่อช่วยพยุงราคา และรักษาเสถียรภาพด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับประเทศเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก หากยังจำกันได้ถึงสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ในปัจจุบันก็ยังไม่สงบศึกกัน
เพราะสุดท้ายแล้ว…เสถียรภาพด้านพลังงาน ก็คือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของชาติ และในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงทุกนาที ราคาน้ำมันไม่แน่นอน นี่คือกลไกที่ไว้วางใจได้ และพร้อมทำงานในทันที ดังนั้นกองทุนน้ำมันฯ จึงไม่ใช่ “ทางเลือก” แต่คือ “สิ่งจำเป็น”