ใบอนุญาต Shipper รายใหม่​ต้องรอหลัง กพช.อนุมัติหลักเกณฑ์เปิดเสรี​ก๊าซ ปลายมี.ค.นี้

- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน​(กกพ.) ชะลอพิจารณาออกใบอนุญาตการเป็นผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายใหม่ที่ยื่นขอเข้ามาในขณะนี้​ 3-4 ราย อาทิ เอ็กโก​ กรุ๊ป และบริษัทลูกในกลุ่ม ปตท.​เพื่อรอกระทรวงพลังงานพิจารณาหลักเกณฑ์และโครงสร้างราคา​ ตามนโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ให้แล้วเสร็จก่อน โดยผลสรุปของคณะทำงานที่มี​นาย​ณอคุณ​ สิทธิ​พงศ์​ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน​เป็นประธาน คาดว่าจะนำเข้าพิจารณาใน กบง.​ 8​ มี.ค.นี้​ และเสนอต่อเข้า ​กพช.ปลายเดือน​มี.ค​ 64

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน​ (กกพ.)ได้เห็นชอบให้ชะลอพิจารณาการออกใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper) ที่ยื่นเสนอเข้ามา 3-4 รายเอาไว้ก่อน ทั้งนี้เพื่อรอความชัดเจนในนโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ของกระทรวงพลังงาน ที่กำลังจัดทำรายละเอียดเงื่อนไขอยู่ก่อน เพื่อไม่ให้เป็นการขัดต่อเงื่อนไขที่กำลังจะออกมา ดังนั้น กกพ.จึงต้องชะลอการพิจารณาผู้ขอเป็น Shipper ไว้ก่อน

โดยเบื้องต้นบริษัทที่ยื่นขอการเป็น Shipper และอยู่ในกลุ่มที่ต้องถูกชะลอการพิจารณาในครั้งนี้ ได้แก่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก และบริษัทลูกในกลุ่มของ บริษัท ปตท.จำกัด​ (มหาชน) เป็นต้น

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า​ คณะทำงานชุดที่มีนาย​ณอคุณ​ สิทธิ​พงศ์​ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน​ เป็นประธาน ได้ข้อสรุปในหลักเกณฑ์และแนวทางการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ​รวมทั้งโครงสร้างราคาก๊าซในส่วนที่เป็นดีมานด์ใหม่​ที่จะเป็นแอลเอ็นจีนำเข้าเรียบร้อย​แล้ว​ คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน​ หรือ​ ​กบง.​ ในวันที่​ 8​ มี.ค.นี้​ และเสนอต่อเข้าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ​ หรือ​ ​กพช.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน​ประมาณปลายเดือน มี.ค​ 64

สำห​รับ​เอ็กโก กรุ๊ป​ ที่ยื่นขอใบอนุญาตเป็น Shipper รายใหม่นั้น​หากได้รับการพิจารณาอนุมัติ​ จะถือเป็น รายที่ 6 ของประเทศ​ โดยทางบริษัท​ เสนอแผนจะนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีใน ปริมาณ 2.5 แสนตันต่อปี เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าของบริษัท​ได้แก่ โรงไฟฟ้าบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม กำลังผลิตติดตั้งรวม 256 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม กำลังการผลิตติดตั้งรวม 121 เมกะวัตต์ อีกทั้งจะนำเข้ามาป้อนเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าเอ็กโก โคเจน จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าทดแทน (SPP Replacement) กำลังการผลิตระหว่าง 100-120 เมกะวัตต์ ที่จะหมดสัญญาในปี 2567

โดยที่ผ่านมา กกพ.ได้พิจารณาให้ใบอนุญาตการเป็น Shipper แก่ผู้ประกอบการแล้ว 5 ราย ได้แก่

  1. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
  2. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
  3. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
  4. บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด
  5. บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด
Advertisment

- Advertisment -.