​กกพ.วางเกณฑ์​ซื้อไฟส่วนเพิ่มจากชีวมวลต้องได้ราคาต่ำกว่าสัญญา​เดิม กรณีแก้ปัญหา​แหล่งก๊าซเอราวัณผลิตไม่​ต่อเนื่อง​

N4431
- Advertisment-

กกพ.วางเกณฑ์ซื้อไฟเพิ่มจากผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวล 400 เมกะวัตต์ เพื่อทดแทนก๊าซแหล่งเอราวัณที่ผลิตไม่ต่อเนื่อง โดยกำหนดอัตรารับซื้อต่ำกว่าสัญญาเดิม ป้องกันผลกระทบค่าไฟ

หล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ประเภทชีวมวล 400 เมกะวัตต์ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2565 เพื่อรองรับกรณีก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณผลิต​ก๊าซ​ไม่​ต่อเนื่อง​จน​ไม่สามารถผลิตได้ถึงเป้าหมาย 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในช่วงหมดอายุสัญญาสัมปทานในเดือน เม.ย. 2565 นี้ว่า ขณะนี้ กกพ.ได้ประสานการไฟฟ้า เพื่อให้ดำเนินการสำรวจความพร้อมของโรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วประเทศทั้งโรงจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ว่ามีโรงไฟฟ้าที่พร้อมจะผลิตไฟฟ้าส่วนเพิ่มขายให้กับรัฐกี่แห่ง ปริมาณเท่าไหร่ และที่สำคัญต้องดูโครงสร้างระบบส่งไฟฟ้าด้วยว่าพร้อมรองรับกำลังผลิตไฟฟ้าส่วนเพิ่มในแต่ละพื้นที่ได้หรือไม่ โดยจากนี้ต้องรอทางการไฟฟ้าจัดทำข้อมูลมานำเสนอต่อไป


อย่างไรก็ตามการรับซื้อไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มเติม 400 เมกะวัตต์ดังกล่าว เบื้องต้นจะให้ดำเนินการโดยโรงไฟฟ้าชีวมวลเดิมที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับภาครัฐอยู่แล้ว และมีโอกาสที่จะผลิตไฟฟ้าเพื่อขายส่วนเพิ่มจากปริมาณรับซื้อเดิม เช่น กลุ่มโรงงานน้ำตาล ที่มีเชื้อเพลิงชีวมวลเหลือใช้ หรือ บางฤดูกาลมีวัตถุดิบเหลือแล้วไม่ได้นำไปใช้ ก็สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าขายเพิ่มได้ หรือ อาจจะเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่สามารถจัดหาวัตถุดิบเพิ่มเติมจากในพื้นที่ เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าขายเพิ่มได้ ก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นในส่วนของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้วในปัจจุบัน ไม่ใช่โรงไฟฟ้าที่ต้องสร้างขึ้นใหม่

- Advertisment -


ส่วนราคารับซื้อไฟฟ้าก็จะต้องพิจารณาอัตราที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อค่าไฟของประเทศ เบื้องต้นเห็นว่า ควรเป็นอัตราที่ต่ำกว่าสัญญาPPA เดิม เพราะเป็นการขายไฟฟ้าส่วนเพิ่มที่ใช้เครื่องจักรเดิม ไม่ได้เป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาใหม่ เช่น หากเป็นโรงไฟฟ้า SPP อัตราค่าไฟฟ้าก็น่าจะอยู่ในระดับ 2 บาท หรือ 2 บาทกว่า เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า หากเป็นอัตราที่แพงเกินไปก็อาจต้องไปพิจารณาการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่นแทน รวมถึงต้องเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลแต่ละแห่งถึงความเป็นไปได้ด้วย

ทั้งนี้คาดว่ากระบวนการรับซื้อไฟฟ้าชีวมวลส่วนเพิ่มอีก 400 เมกะวัตต์ จะสามารถดำเนินการได้อย่างเร็วภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า หากไม่มีปัญหาติดขัดใดๆเกิดขึ้น เพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องการผลิตอยู่แล้ว จึงสามารถผลิตไฟฟ้าส่วนเพิ่มได้ในทันที

อย่างไรก็ตามการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2565 ที่ให้รับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มจากพลังงานทดแทนประเภทชีวมวล ของผู้ผลิตไฟฟ้า SPP และVSPP จากสัญญาเดิม เพิ่มขึ้น 400 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางลดผลกระทบจากปริมาณก๊าซฯของแหล่งก๊าซฯเอราวัณที่หายไป ในช่วงหมดอายุสัมปทานในเดือน เม.ย. 2565 นี้ โดย กพช.มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ดำเนินการตามความเหมาะสม ดังนั้นทาง กกพ.จะต้องเตรียมวางหลักเกณฑ์ต่างๆว่าจะรับซื้ออย่างไร อัตราเท่าไหร่ แล้วนำไปเสนอ กบง.ตัดสินใจต่อไป

Advertisment

- Advertisment -.