หวั่นชวดเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ 106 ล้าน ตัวแทน4 อบต.จากเชียงใหม่บุกยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีพลังงาน ผ่อนปรนเกณฑ์ ส่งเอกสารล่าช้า

1063
- Advertisment-

ตัวแทน 4 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ อบต.ยางเปียง อบต.นาเกียน อบต.แม่ตื่น และ อบต.กื้ดช้าง รวมตัวยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขอผ่อนปรนกรณีการยื่นเอกสารโครงการเพื่อขอใช้งบกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เกิดความล่าช้าในการจัดส่งเอกสารไป 2 วัน เหตุติดปัญหาการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ กังวลหากไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณกองทุนฯกว่า 106 ล้านบาท  จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่กว่า 5,000 คนขาดโอกาสมีไฟฟ้าใช้ หลังขาดแคลนไฟฟ้ามากว่า 30 ปี หวังงบดังกล่าวช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดีขึ้น

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2563 ตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) 4 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ อบต.ยางเปียง อบต.นาเกียน อบต.แม่ตื่น และ อบต.กื้ดช้าง ได้เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในวันนี้ (30 ต.ค. 2563) เพื่อขอให้ผ่อนปรนกรณีส่งเอกสารการขอใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปี 2563 ล่าช้า เพราะติดปัญหาการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ จึงมีความกังวลว่าการส่งเอกสารล่าช้าไป 2 วันจะทำให้ไม่ผ่านการอนุมัติโครงการ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับประชาชนของ อบต. 4 แห่ง กว่า 5,000 คน ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอมากว่า 30 ปี

โดยที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2563 มีมติอนุมัติให้จัดสรรเงินกองทุนฯ ปี 2563 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จังหวัดเชียงใหม่ รวมเป็นเงิน 106,418,808 บาท ให้แก่ 4 อบต. คือ
1.อบต.ยางเปียง จำนวน 174 ครัวเรือน งบประมาณ 12,057,600 บาท
2.อบต.นาเกียน จำนวน 760 ครัวเรือน งบประมาณ 52,744,000 บาท
3.อบต.แม่ตื่น จำนวน 158 ครัวเรือน งบประมาณ10,570,000 บาท
4.อบต.กึ้ดช้าง จำนวน 184 ครัวเรือน งบประมาณ 12,309,600 บาท

- Advertisment -

ทั้งนี้ได้กำหนดเงื่อนไข 4 ข้อ ที่ต้องจัดส่งรายละเอียดให้ทางจังหวัดเชียงใหม่ภายใน 28 ก.ย. 2563 ซึ่งขณะนั้น อบต. ทั้ง 4 แห่งได้จัดเตรียมข้อมูลเสร็จเพียง 3 ข้อ  ยกเว้นข้อ 4 เรื่อง “เอกสารใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในโครงการที่ได้รับการจัดสรรจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่”  ซึ่งต้องขออนุญาตโดยตรงจากกรมป่าไม้ โดยต้องชี้แจงแหล่งที่มาของงบประมาณที่ได้รับในการดำเนินโครงการและแสดงเหตุผลการดำเนินโครงการอย่างละเอียด ก่อนดำเนินการ เพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่ต่อเจ้าของพื้นที่ และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) เจ้าของพื้นที่จะร่วมกับหน่วยงาน อบต. จัดทำพิกัด ประชาพิจารณ์และข้อเสนอโครงการการขออนุญาตใช้พื้นที่ส่งให้กรมป่าไม้

อย่างไรก็ตาม อบต.ทั้ง 4 แห่งได้พยายามดำเนินการจนได้รับหนังสืออนุญาต วันที่ 30 ก.ย. 2563 ซึ่งเกินกำหนดเวลาในข้อกำหนด(28 ก.ย.2563)ไป  2 วัน ทาง อบต.ทั้ง 4 แห่งกังวลใจเป็นอย่างยิ่งในการจัดสรรเงินกองทุนฯ ในครั้งนี้ โดยเกรงว่างบประมาณจะตกไปด้วยเหตุผลดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบกับประชาชนของ อบต.ทั้ง 4 แห่งไม่น้อยกว่า 5,000 คน

ดังนั้น อบต.ทั้ง 4 แห่ง จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาผ่อนผัน เนื่องจากหากไม่ได้รับงบประมาณกองทุนฯในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบอย่างมากในเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนในพื้นที่ เพราะประชาชนในพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้มามากกว่า 30 ปี รวมทั้งจะช่วยลดความขัดแย้งในความไม่เข้าใจกันระหว่างภาคประชาชน กับภาครัฐ และยังตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจฐานรากของกองทุนฯ อีกทั้งยังช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ลดการเผาป่าไม้ ไฟป่า หมอกควัน การตัดไม้ทำลายป่า เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ลดมลภาวะเป็นพิษและมีสารเคมีตกค้างในพื้นที่จากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเผาไหม้ เป็นต้น

 

Advertisment