10ภาพอนาคต กฟผ.เน้นนำนวัตกรรมสร้างความมั่นคงไฟฟ้ารับมือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

1943
- Advertisment-

เปิด10 ภาพอนาคตของกฟผ.ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าที่องค์กรจะมีการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกและพฤติกรรมการใช้พลังงานที่เปลี่ยนไป โดยจะนำนวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทในภารกิจสร้างความมั่นคงไฟฟ้าให้กับประเทศมากขึ้น

ในงาน EGAT INNOVATION SHOWCASE 2020 ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดขึ้น วันนี้ (8 ธันวาคม 2563)  ภายใต้แนวคิด “EGAT Smart Energy Solutions”  โดยมีนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. เป็นประธาน ณ หอประชุมเกษม จาติกวณิช สำนักงานใหญ่ กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี มีหัวข้อบรรยายจาก นางวีนัส หลงสมบุญ ผู้ช่วยผู้ว่าการ วิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. ซึ่งฉายภาพให้เห็นถึงอนาคตของ กฟผ.ในช่วง5-10 ปีข้างหน้า ที่จะมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทของโลก เทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้า และ พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ใน10 หัวข้อหลักดังนี้

- Advertisment -
วีนัส หลงสมบุญ ผู้ช่วยผู้ว่าการ วิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. ระหว่างบรรยายบนเวที

1. ระบบผลิตไฟฟ้าเดิมที่ผลิตด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำและเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินสะอาด ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้กับประเทศ

2.การขยายระบบผลิตไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้ด้วย ประสิทธิภาพที่สูงขึ้นและมีต้นทุนที่ต่ำลง โดย กฟผ.มีโครงการพัฒนานวัตกรรมโรงไฟฟ้าเทคโนโลยี Supercritical Carbon Dioxide  ที่มี 3 เฟสเริ่มมาตั้งแต่ปี 2562-2567 โดยหากประสบความสำเร็จจะทำให้โรงไฟฟ้าของ กฟผ.จะมีขนาดที่เล็กลงแต่จะมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น

3.การจัดหาเชื้อเพลิง LNG เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. สร้างธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ โดยในช่วงปลายปี 2562 และ เดือน เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา กฟผ.ได้มีการทดลองนำเข้า LNG แบบ Spot มาแล้ว 2 คาร์โก้ รวมปริมาณ 1.3 แสนตัน ในขณะที่ มติ กบง.เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2563 ได้เห็นชอบแผนจัดหา LNG ของ กฟผ. ระหว่างปี  2564 – 2566 เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าบางปะกง พระนครใต้ และวังน้อย มีปริมาณไม่เกิน 1.9, 1.8 และ 1.8 ล้านตันต่อปี ตามลำดับ

4.ขยายการเชื่อมต่อระบบสายส่งกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทำ Energy Trading ในภูมิภาค โดยจะมีการขยายระบบสายส่ง 230 เควีและ500 เควี เพื่อขายไฟฟ้าให้กับ กัมพูชา เมียนมา

5.เสริมการลงทุนระบบส่งให้รองรับความผันผวนจากไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนด้วยระบบกักเก็บพลังงาน ที่จะมีการปรับให้เป็นระบบส่งอัจฉริยะ หรือ Smart Grid และนำระบบ AI  มาใช้ควบคู่กับระบบกักเก็บพลังงาน

6.เสริมระบบโครงข่ายSmart Grid ด้วยระบบRE control Center และTrading Platform

7.เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของวิสาหกิจชุมชนด้วยโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน  โดย กฟผ.มีโครงการนำร่อง 2 โครงการ กำลังการผลิตแห่งละ 3 เมกะวัตต์ โดยที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นประเภทชีวมวล และ ที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์  ส่วนสำคัญของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนอกจากจะช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังลดปัญหาฝุ่นP.M 2.5 จากการเผาซากพืชผลการเกษตรในที่โล่งแจ้งอีกด้วย

8.พัฒนาธุรกิจ Behind the Meter เพื่อรองรับการผลิตและซื้อขายไฟฟ้าภายในชุมชนหรือ peer to peer ที่จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ไม่ถึง 2 บาทต่อหน่วยจะจูงใจให้คนหันมาผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้น

9.ส่งเสริมการใช้ EV ตามนโยบายภาครัฐและพัฒนาธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดย กฟผ.มีโครงการวิจัยนำร่องทั้งในส่วน นำรถยนต์เก่าที่ใช้น้ำมันมาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า  รถเมล์ไฟฟ้า  เรือขนส่งมวลชนไฟฟ้าและท่าเรืออัจฉริยะ ที่ท่าเรือสะพานพระราม 7

10 .ศึกษาและเตรียมการพัฒนาธุรกิจ Waste to Value เพื่อกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ โดยแนวโน้มในอนาคตที่มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น จะทำให้มีซากแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ มากขึ้นเช่นเดียวกัน

นางวีนัส กล่าวว่า บริบทของโลกที่เปลี่ยนไปมีการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านพลังงานเข้ามาใช้มากขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าถูกลง หรือการที่เศรษฐกิจของแต่ละประเทศเชื่อมโยงถึงกันหมด เมื่อมีปัญหาวิกฤตเกิดขึ้น ต้มยำกุ้ง ซับไพร์ม  สภาพอากาศแปรปรวน หรือโควิด-19 ตลอดจนการที่สังคมไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือการเข้าสู่สังคมดิจิทัล  ก็ล้วนมีผลต่อ พฤติกรรมการใช้พลังงานที่เปลี่ยนไป    ดังนั้นเพื่อการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้มีความยั่งยืน กฟผ.จึงต้องปรับกลยุทธ์ในการนำนวัตกรรมและระบบอัจฉริยะต่างๆมาใช้ให้สอดคล้อง รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

สมชาย โชคมาวิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กฟผ.ระหว่างให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว

ในขณะที่ นายสมชาย โชคมาวิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กฟผ. กล่าวว่า การส่งเสริมการคิดค้นผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้า ในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนช่วยลดการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศได้มากกว่าพันล้านบาทต่อปี ซึ่งยังมีการลงทุนด้านนี้อย่างต่อเนื่อง มีงานวิจัยหลายเรื่องที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม อาทิ หุ่นยนต์อเนกประสงค์เพื่องานบำรุงรักษาสายส่ง เป็นหุ่นยนต์ที่สามารถไต่บนสายดินล่อฟ้า (Overhead Ground Wire : OHGW) ที่พาดอยู่บนเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งมาพร้อมกับแขนกลสำหรับดึงหรือลากอุปกรณ์ลดแรงสั่นสะเทือน (Vibration Damper) ที่ติดตั้งอยู่บนสาย OHGW ให้กลับเข้าสู่ตำแหน่งปกติ โดยไม่ต้องดับไฟระหว่างปฏิบัติงาน แก้ปัญหาสาย OHGW หลุดลงมาพาดสายส่งไฟฟ้าจนทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง โครงการวิจัย 20C Discharge C-Rate & Pole Solid State Battery เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการนำระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะที่เหมาะสมมาใช้กับประเทศไทย เพื่อช่วยให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น แสงแดด และลม มีเสถียรภาพมากขึ้น
เรามีความหวังที่จะเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของประเทศไทยในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งหมายความว่าจะมีงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะสร้างรายได้ดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศได้มากกว่า 1พันล้านเหรียญสหรัฐ

บรรยากาศงาน EGAT INNOVATION SHOWCASE 2020
Advertisment