ไฟดับครั้งใหญ่ในยุโรป ทำไมไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ?

282
- Advertisment-

เหตุการณ์ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง (Blackout) ครั้งสำคัญ ที่เกิดขึ้นทั่วกรุงมาดริดและเมืองบาร์เซโลนาของสเปน เมืองลิสบอน ของโปรตุเกส รวมถึงบางส่วนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 ที่ผ่านมาซึ่งกินเวลานานกว่า 10 ชั่วโมง ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะทั้งรถไฟและรถไฟใต้ดินต้องหยุดให้บริการ ผู้คนติดค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก เที่ยวบินต่างๆ ถูกยกเลิก โรงพยาบาลต้องปั่นไฟฟ้าสำรองใช้ หมอไม่สามารถทำการผ่าตัดคนไข้ได้ ระบบการสื่อสารทั้งอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือขัดข้องในหลายพื้นที่ ร้านค้าต่างๆ ต้องปิดการจำหน่าย อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ ในชีวิตล้วนใช้การไม่ได้  สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายโกลาหลให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่นับล้านคนในเมือง ตลอดจนสร้างความเสียหายอย่างมากต่อเศรษฐกิจ

Blackout เพราะพลังงานหมุนเวียนหายไปจากระบบอย่างรวดเร็วจากความแปรปรวนของอุณหภูมิ

Red Eléctrica’s Electric Control Center (Cecoel) and Renewable Energy Control Center (Cecre).

โดยสรุปสาเหตุของไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ที่ทางบริษัท Redes Energéticas Nacionais (REN) ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงข่ายไฟฟ้าของโปรตุเกส และ บริษัท Red Eléctrica de España (REE) ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงข่ายไฟฟ้าของสเปนได้ออกมาอธิบายว่าเป็นเพราะความแปรปรวนของอุณหภูมิ (Temperature Fluctuation) ในพื้นที่สเปน ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาไฟฟ้าในสัดส่วนจากพลังงานหมุนเวียนเป็นหลักและเสริมความมั่นคงด้วยไฟฟ้าที่ส่งมาจากสายส่งของฝรั่งเศส ดังนั้นเมื่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมหายไปจากระบบอย่างรวดเร็วในปริมาณมากจึงทำให้โรงไฟฟ้าก๊าซที่มีกำลังผลิตติดตั้งอยู่น้อยและไฟฟ้าจากสายส่งไฟฟ้าที่เชื่อมโยงระหว่างสเปนและฝรั่งเศสเกิดขัดข้องไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ ส่งผลให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าในสเปนไม่มีเสถียรภาพ และลุกลามบานปลายไปยังสายส่งเชื่อมโยงระหว่างสเปน-โปรตุเกส และโรงไฟฟ้าได้ปลดตัวเองออกจากระบบผลิตชั่วคราว จึงเกิดเหตุไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง

- Advertisment -

ข้อมูลสถิติของ European Network of Transmission System Operators for Electricity (ENTSO-e) ซึ่งเป็นเครือข่ายผู้ควบคุมระบบส่งไฟฟ้าแห่งยุโรป ระบุว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก 9,544 เมกะวัตต์ ในวันที่ 17 มีนาคม 2568 เป็น 19,060 เมกะวัตต์ ในวันที่ 28 เมษายน 2568 หรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 76.5% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าในวันที่เกิดเหตุไฟฟ้าดับ ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเดินเครื่องอยู่เพียง 7.3% ของกำลังผลิตติดตั้ง (สเปนมีกำลังผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าประเภทก๊าซธรรมชาติ 29,943 เมกะวัตต์)

โดยในช่วงที่เกิดเหตุไฟฟ้าดับในสเปนนั้น พบว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม หายไปจากระบบอย่างเฉียบพลันถึง 14,280 เมกะวัตต์ ภายใน 5 วินาที หรือเทียบเท่า 60% ของความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ ซึ่งเป็นปริมาณไฟฟ้าที่มากเกินกว่าจะกู้คืนระบบได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว ดังนั้นเมื่อระบบไฟฟ้าในสเปนล่ม จึงส่งผลกระทบไปยังประเทศข้างเคียง เพราะสเปนมีการส่งไฟฟ้าไปยังโปรตุเกสมากถึง 2,119 เมกะวัตต์ และฝรั่งเศส 761 เมกะวัตต์

ทำไมไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ

ดูตัวอย่างกรณีไฟฟ้าดับที่เกิดขึ้นในสเปน และโปรตุเกสแล้ว คงไม่มีใครอยากจะเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเกิดขึ้นในประเทศไทย และอาจจะมีความกังวลใจเมื่อตามข่าวแล้วพบว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ แผนพีดีพีฉบับใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำ จะมีการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 51% ในช่วงปลายแผน คือ ปี 2580  เพราะถึงแม้ว่าพลังงานหมุนเวียนจะมีความสำคัญในแง่ของการเป็นพลังงานสะอาด แต่ในแผนก็ควรจะต้องมีโรงไฟฟ้าหลักเพื่อความมั่นคง อาทิ โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งมีความสามารถในการรักษาความถี่ไฟฟ้า (Frequency) ให้เพียงพอที่จะสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า มิฉะนั้นหากพลังงานหมุนเวียนมีความผันผวนและกำลังผลิตหายไปจากระบบอย่างรวดเร็วในปริมาณมาก ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ blackout ซ้ำรอยแบบเดียวกับที่สเปนและโปรตุเกสได้

ข้อดีของโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง

เมื่อเกิดเหตุการณ์กำลังผลิตไฟฟ้าหายไปจากระบบอย่างรวดเร็ว โรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงที่เดินเครื่องเป็นกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่าย (Spinning Reserve) จะเข้าไปช่วยจ่ายไฟทดแทนเพื่อรักษาความถี่ไฟฟ้าในระบบ ทำให้ระบบไฟฟ้ามีความเสถียรมากขึ้น ดังนั้นหากในแผนพีดีพีฉบับใหม่มีสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนปริมาณมากก็จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงที่เดินเครื่องเป็นกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายรองรับให้มากพอเช่นกัน

สำหรับในร่างแผนพีดีพีฉบับใหม่ที่มีการรายงานผ่านสื่อนั้น ใช้การส่งเสริมให้มีระบบกักเก็บพลังงานเพียงพอ ควบคู่กับการพัฒนาโรงไฟฟ้าหลักเพื่อดูแลระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง

อย่างไรก็ตามในการรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในปัจจุบัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าจะไม่เกิดปัญหา blackout แบบสเปนและโปรตุเกส เพราะมีระบบป้องกันพิเศษที่สามารถปลดโรงไฟฟ้าหรือโหลดที่จุดสำคัญ มีการควบคุมโรงไฟฟ้าที่เป็น Spinning Reserve ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและเพียงพอกับสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงมีโรงไฟฟ้าที่เป็นกำลังผลิตสำรองของระบบผลิตไฟฟ้า (Operation Reserve-Standby) ซึ่งสามารถจ่ายไฟฟ้าในระยะเวลาอันสั้น (Quick Start) และมีสายส่งไฟฟ้าแรงสูงกระแสตรง (High Voltage Direct Current : HVDC) ที่เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพของระบบโครงข่ายไฟฟ้าอีกด้วย

โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2

นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีการปรับปรุงโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) สามารถเร่งหรือลดการผลิตไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้กำลังผลิตไฟฟ้าเพียงพอตามความต้องการในทุกช่วงเวลา ควบคู่กับการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับซึ่งเป็นระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำ ช่วยลดความผันผวนและรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า โดยสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำตอนล่างไปกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำตอนบน และปล่อยกลับมาผลิตไฟฟ้าในเวลาที่ต้องการ โดยปัจจุบัน กฟผ. มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 3 แห่ง คือ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนภูมิพล จ.ตาก และโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา โดยมีแผนดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการในกระบวนการที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติโครงการต่อไป

ต้องเน้นย้ำว่ากรณี blackout ในสเปนและโปรตุเกส นั้นเป็นบทเรียนราคาแพง ที่คนสเปนและโปรตุเกสต้องจ่ายส่วนประเทศไทยก็จำเป็นต้องเรียนรู้และเตรียมความพร้อม โดยผู้กำหนดนโยบายไฟฟ้าและผู้กำกับดูแลและหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องตระหนักถึง “ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า” เป็นสำคัญ เมื่อในแผนอยากจะเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่ไม่เสถียรเข้าระบบในสัดส่วนสูง ก็จำเป็นจะต้องมีโรงไฟฟ้าหลักมาช่วยรักษาความมั่นคงของระบบอย่างเพียงพอด้วย เพราะหากปล่อยให้เกิด blackout ตามรอยประเทศสเปนและโปรตุเกส จะไม่มีใครการันตีผลกระทบและความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้

Advertisment