เพราะเรื่องโลกรวนรอไม่ได้…Green Growth แบบมีเป้าหมายกับ กฟผ. เพื่อสังคมไทยไร้คาร์บอน

โครงการสมาร์ทกริด โดย กฟผ. ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
- Advertisment-

การเติบโตของสังคมสีเขียวอย่างยั่งยืน (Green Growth) หรือการสร้างการเติบโตและพัฒนาการทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานแห่งการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความอยู่ดีมีสุขของคนในสังคม โดยมีเทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญ ถือเป็นวาระของโลกที่ผู้นำระดับนานาชาติต่างกำลังให้ความสำคัญและมุ่งขับเคลื่อน ด้วยสถานการณ์ความท้าทายจากภาวะโลกรวน โดยเฉพาะจากรายงานวิกฤติสภาพภูมิอากาศโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ​​ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีนัยยะสำคัญว่า “โลกร้อนขึ้นแล้ว 1.1. องศา ความเป็นไปของมนุษยชาติ ขึ้นอยู่กับการลงมือแก้ไขสถานการณ์ในอีก 7 ปีข้างหน้า”

ความเปราะบางท่ามกลางพายุก๊าซคาร์บอน

IPCC นั้นเป็นหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งให้คำปรึกษาแก่องค์การสหประชาชาติ (United Nations หรือ UN) ในประเด็นภาวะโลกร้อน โดยรายงาน AR6 Synthesis Report: Climate Change 2023 ของ IPCC เป็นการสรุปรายงานทั้งหมดของของคณะกรรมการฯ ที่ได้เผยแพร่ไปในช่วงปี 2018-2023 ที่ผ่านมา ได้ระบุถึงผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกที่นำไปสู่สภาพอากาศและภูมิอากาศสุดขั้ว ซึ่งสร้างอันตรายต่อมนุษย์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน สถานการณ์ภาวะโลกร้อนที่พบว่ามีระดับอุณหภูมิเพิ่มขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียสจากระดับมาตรฐานของยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และแนวโน้มที่โลกจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสในช่วงปี 2030-2035 และเพิ่มสูงถึง 3.2 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 ด้วยตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการฯ​ ชี้ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่หลายส่วนของโลกจะหายไปในอีกไม่กี่ศตวรรษข้างหน้า

- Advertisment -

IPCC ยังได้เน้นย้ำว่า การปล่อยมลพิษจะต้องลดลง 43% ภายในปี 2030 หรืออย่างน้อย 60% ภายในปี 2035 (จากปี 2019) หากเราจะควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกินขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียส ขณะที่พบว่าการบริหารจัดการภาวะโลกร้อนกลับกำลังสวนทางและพบกับความท้าทาย ด้วยเม็ดเงินสนับสนุนของหลายภาคส่วนในโลกที่ยังคงไหลเข้าสู่เชื้อเพลิงฟอสซิลมากกว่ากระแสเงินเพื่อการสนับสนุนด้านการปรับตัวสู่พลังงานทดแทนหรือการบรรเทาสภาพอากาศแปรปรวน สาระที่น่าตื่นตระหนกนี้ ได้ขีดเส้นใต้ความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนในสังคมโลกต้องลุกขึ้นมามีส่วนร่วมผลักดันการเติบโตสีเขียวอย่างเร่งด่วนและจริงจัง

กระแสการปรับใช้แนวคิดการเติบโตสีเขียวในเวทีสากล

ภาวะโลกรวนนั้นนำมาซึ่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน การประเมินจาก Swiss Re Institute ระบุว่าหากเราปล่อยให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นกว่า 2-3.2 องศาเซลเซียส ในช่วงปี 2022-2050 จะมีผลทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหดตัว โดยเศรษฐกิจไทย จะหดตัวลงถึง 4.9%-43.6% กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำจะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งทวีความรุนแรง

จากการประเมินสถานการณ์ดังกล่าว หลายหน่วยงานระหว่างประเทศได้ออกนโยบายรับมือ โดยสหภาพยุโรปกำลังเตรียมปรับใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) เพื่อควบคุมการค้าโลกให้ปรับตัวสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มาตรการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย ทำให้ภาคเอกชนต่างต้องเร่งปรับตัวสู่การดำเนินธุรกิจสีเขียวอย่างจริงจัง เพื่อรักษาโอกาสทางธุรกิจ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ก็ได้ออกรายงานซึ่งเน้นย้ำความจำเป็นที่นโยบายด้านพลังงานของโลกต้องได้รับการแก้ไข เพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนทิศทางสถานการณ์โลกรวนอย่างเร่งด่วน และตอกย้ำความเป็นไปได้ของการร่วมมือการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยการผลักดันการเติบโตสีเขียวอย่างยั่งยืน ที่จะนำมาซึ่งพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนในระยะยาว

การขับเคลื่อนการเติบโตของสังคมสีเขียวในประเทศไทย

นับจากการเข้าร่วม COP26 ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 โดยปัจจุบัน ภาครัฐของเราอยู่ระหว่างการยกระดับแผนพลังงานชาติ ภาคเอกชนต่างเริ่มตื่นตัวต่อการปรับใช้พลังงานทางเลือก รวมถึงผู้บริโภคเอง ก็กำลังปรับตัวสู่นวัตกรรมพลังงานสะอาดทีละนิด เรียกได้ว่าในประเทศไทยเริ่มเกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสีเขียวอย่างมีนัยยะสำคัญและเป็นรูปธรรมแล้ว

หน่วยงานผู้ส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยอย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นหนึ่งในองค์กรที่ร่วมผลักดันภารกิจที่สำคัญยิ่งนี้เช่นกัน ผ่านการกำหนดเป้าหมายและนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ EGAT Carbon Neutrality ภายในปี 2050 เพื่อร่วมผลักดันเป้าหมายของประเทศที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด และตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ โดยมีมาตรการหลัก “Triple S” คือ การจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด (Sources Transformation) การดูดซับเก็บกักคาร์บอน (Sink Co-creation) และกลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม (Support Measures Mechanism) เพื่อสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ

ภายใต้บทบาทผู้ดูแลเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศไทย กฟผ. กำลังขับเคลื่อนการเติบโตและการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจไทยและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคมผ่านโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียว อาทิ

·      โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด​ – ต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ ร่วมกับพลังน้ำจากเขื่อน ที่ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น และมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำเนื่องจากใช้ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ที่เขื่อนสิรินธร จ.​ อุบลราชธานี มีกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตไฟฟ้าประมาณ 47,000 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกป่าประมาณ 37,600 ไร่ และยังมีแผนพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด​ อีก 9 แห่ง

·      โครงการศึกษาพลังงานทางเลือก – เพื่อการต่อยอดเทคโนโลยีพลังงานสะอาด อาทิ การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) โดยนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้ามาแปรรูปเป็นเมทานอล โดย กฟผ. ได้นำร่องศึกษาใน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง

·      โครงการพัฒนาศักยภาพโครงข่ายไฟฟ้า – กฟผ. สร้างโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะด้วยสมาร์ทกริด เพื่อยกระดับการบริหารจัดการเชื่อมโยงระบบผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์และโรงไฟฟ้าในพื้นที่ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างสมดุล โดยใน จ. แม่ฮ่องสอน มีการติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม พร้อมแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานเพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรองจากไฟฟ้าสีเขียว สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EleX by EGAT และรถบัสไฟฟ้า (EV Bus) ไว้ให้บริการประชาชน และศูนย์การเรียนรู้โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ กฟผ. นอกจากนี้ กฟผ. ​ยังมุ่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้ทันสมัยอยู่เสมอ (Grid Modernization) เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าให้สามารถส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าในภาพรวม ผ่านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ที่ จ.​ชัยภูมิ ศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast Center) ซึ่งตั้งเป้าเปิดใช้งาน 17 แห่งทั่วประเทศในปี 2567 และการนำร่องปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงดิจิทัล (Digital Substation) เพื่อเพิ่มความสามารถในการควบคุมและส่งจ่ายไฟฟ้าอย่างมีเสถียรภาพ

·      โครงการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า – การให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EleX by EGAT และสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA ทั่วประเทศ

·      โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยไฟฟ้าสีเขียว – กฟผ.​ คือหน่วยงานหนึ่งเดียวของไทย ผู้ออกใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC) เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าโรงงานหรือบริษัทนั้นใช้พลังงานสีเขียวตามมาตรฐานสากล เพื่อดึงดูดนักลงทุนและเพิ่มแต้มต่อให้แก่ผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนของไทยในเวทีการค้าโลก

·      โครงการส่งเสริมการใช้พลังงาน – นับตั้งแต่เริ่มดำเนินงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management: DSM) โดยส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพด้วยมาตรการและแนวทางต่าง ๆ ซึ่งเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ผ่านฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ที่คนไทยทุกบ้านรู้จัก และการก้าวสู่บทบาทผู้ให้คำปรึกษาและให้โซลูชันด้านการออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และให้บริการด้านพลังงานอย่างครบวงจร ซึ่งมีนวัตกรรมเด่นอย่าง “บ้านครินทร์” ที่เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ต้นแบบบ้านประหยัดพลังงาน​​ ซึ่งแสดงศักยภาพของระบบบริหารจัดการพลังงาน “ENZY Platform” พัฒนาโดยทีมผู้เชี่ยวชาญของ กฟผ.​

โครงการต่าง ๆ เหล่านี้คือความมุ่งมั่นและความภาคภูมิใจของ กฟผ. ที่ได้มีส่วนต่อยอดเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญ เพื่อนำพาประเทศไทยสู่อนาคตด้านพลังงานที่มีเสถียรภาพ และอนาคตของมนุษยชาติ ที่กำลังยืนอยู่บนเส้นด้ายความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ทวีความท้าทายขึ้นทุกวัน ทว่าสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ การตั้งเป้าหมาย ลงมือทำอย่างจริงจัง และก้าวเข้ามามีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมไปพร้อม ๆ กัน เพื่อการเติบโตและพัฒนาสีเขียวที่นำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนอย่างยั่งยืน

Advertisment

- Advertisment -.