หลังจากเว้นว่างมานานถึง 18 ปี ในปี 2568 ประเทศไทยได้กลับมาเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบก (ครั้งที่ 25) ภายใต้ระบบสัมปทาน โดยมีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ทำหน้าที่หลักด้านการส่งเสริม สนับสนุน และเร่งรัดการจัดหาพลังงาน โดยเฉพาะการสำรวจและพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงธรรมชาติในประเทศ รวมถึงการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติและเชื้อเพลิงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยพื้นที่ 9 แปลง ที่เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจประกอบด้วยพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แปลง บริเวณจังหวัดหนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ และภาคกลาง 2 แปลง บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี รวมพื้นที่ทั้งหมด 33,444.64 ตารางกิโลเมตร
ผลการยื่นขอสิทธิสำรวจ ปรากฏว่ามีบริษัทไทยและต่างชาติ จำนวน 5 ราย ยื่นขอสิทธิสำรวจฯ รวมทั้งหมด 8 คำขอ จาก 5 บริษัท ประกอบด้วย 1) บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำนวน 3 คำขอ 2) บริษัท แพน โอเรียนท์ เอ็นเนอยี่ (สยาม) ลิมิเต็ด และ บริษัท CanAsia Energy Corp. จำนวน 1 คำขอ 3) บริษัท จีโอ เมคคานิคอล เซอร์วิสเซส จำกัด จำนวน 1 คำขอ 4) บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 1 คำขอ และ 5) บริษัท ยูเอซี ยูทิลิตีส์ จำกัด จำนวน 2 คำขอ
ผลจากการที่มีผู้ประกอบการให้ความสนใจจำนวนมาก นอกจากจะแสดงให้เห็นว่าไทยยังคงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับการค้นพบแหล่งพลังงานใหม่แล้ว ยังสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศที่มีต่อทรัพยากรพลังงานของไทย เป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยโดยรวม โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านพลังงาน ต้นทุนเชื้อเพลิงที่ผันผวน และปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบพลังงานในหลายประเทศ
ทั้งนี้ ด้วยปัจจุบันที่เทคโนโลยีในการสำรวจทางธรณีวิทยามีความแม่นยำสูงขึ้นมาก ทำให้สามารถระบุโครงสร้างและศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมได้อย่างละเอียดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความเสี่ยงในการลงทุนและเพิ่มโอกาสในการค้นพบแหล่งใหม่ ๆ ที่อาจมีขนาดใหญ่ขึ้น อีกทั้งประเทศไทยยังคงมีความต้องการใช้ปิโตรเลียมทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในปริมาณสูง การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายในประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าและสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า ต้องการลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายในประเทศถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว และบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดจากความผันผวนด้านราคาและปัญหาจากภายนอกประเทศได้ในอนาคต หากประเทศไทยสามารถผลิตพลังงานได้เองภายในประเทศ จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับภาคอุตสาหกรรมและการผลิต ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจ การมีพลังงานจากแหล่งภายในประเทศจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คาดการณ์ว่า การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงบนบกรอบนี้จะเกิดการลงทุนไม่ต่ำกว่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวกว่า 2,000 ล้านบาท
ด่านต่อไป กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติคงต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจแก่สาธารณชน โดยมีการสื่อสารอย่างโปร่งใสเกี่ยวกับขั้นตอนการยื่นขอสิทธิ การพิจารณา และการคัดเลือกบริษัทที่เหมาะสม ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบจากคณะกรรมการตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อสร้างแนวร่วมภาคประชาชนให้เห็นประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นกับประเทศและประชาชน อาจกล่าวได้ว่า การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่ใหม่บนบกในรอบ 18 ปีครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยตอบโจทย์ด้านพลังงาน แต่ยังเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าไทยยังคงรักษาสมดุลระหว่างการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน
ไม่ว่าแหล่งพลังงานใหม่จะถูกค้นพบหรือจะมีปริมาณมากพอหรือไม่ แต่หากไม่มีการเริ่มต้น ก็เท่ากับว่าเรากำลังปล่อยให้ประเทศติดอยู่กับสถานะผู้นำเข้าพลังงานอย่างถาวร โดยไร้แผนสำรองที่ชัดเจน