เชฟรอนส่งครูอาสาเปิดโลกความรู้สู่วิชานอกห้องเรียนกับ After School Program

- Advertisment-

“นอกจากการได้แบ่งปันความรู้ให้เด็กๆ รู้สึกรักวิชาคณิตศาสตร์มากขึ้นแล้ว อีกจุดมุ่งหมายที่โครงการ After School Program เน้นคือการปลูกฝัง Growth mindset ให้เด็กๆ รู้สึกว่าถ้าทุกคนทำได้ เราก็ทำได้ ผมว่าสิ่งนี้แหละคือหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคน”

นายปริญญา ผลบุตร นักธรณีวิทยา (Petrophysicist) ประจำที่ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

นายปริญญา ผลบุตร นักธรณีวิทยา (Petrophysicist) ประจำที่ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บอกเล่าถึงประสบการณ์การสอนในเวลา “หลังเลิกเรียน” ที่ได้เปลี่ยนบทบาทจากพนักงานบริษัทสู่คุณครูอาสาของโครงการ After School Program เพื่อสอนวิชาคณิตศาสตร์ทุกสัปดาห์ให้กับโรงเรียนวัดประชาศรัทธาธรรม

- Advertisment -

โดยโครงการ After School Program ดำเนินงานโดยมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ หรือ Saturday School Foundation ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือการมุ่งเสริมสร้าง Soft Skills ผ่านการปลูกฝัง Growth Mindset ให้เด็กๆ กล้าที่จะเดินตามความฝัน และเชื่อในศักยภาพของตนเอง

 โดยจุดมุ่งหมายดังกล่าว สอดคล้องกับแนวคิดของเชฟรอนประเทศไทย ในฐานะบริษัทพลังงานระดับโลกที่เชื่อมั่นใน  “พลังคน” โดยนอกจากพันธกิจในการจัดหาพลังงานให้ประเทศอย่างยั่งยืนแล้ว บริษัทฯ ยังมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านการสนับสนุนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมสะท้อนแนวคิดนี้สู่พนักงานและส่งเสริมให้ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมกับกิจกรรมเพื่อสังคมอยู่เสมอ

ภาณุ บุญวัฒโนภาส รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายดิจิทัล และเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

ภาณุ บุญวัฒโนภาส รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายดิจิทัล และเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด อีกหนึ่งครูอาสากล่าวเสริมว่า “ผมสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดพระยายัง โดยจุดเริ่มต้นคือผมอยากจะมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการศึกษาของประเทศ และมีความฝันอยากเป็นอาจารย์อยู่แล้วเป็นทุนเดิม ซึ่งภาษาอังกฤษที่ผมสอนจะเน้นไปที่รูปแบบการใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันภาษาอังกฤษถือเป็นภาษาที่สองของเด็กๆ เลยทีเดียว โดยสิ่งที่ผมประทับใจที่สุดคือการที่ได้ให้โอกาสลูกๆ ทั้งสองคนเข้ามามีส่วนร่วมในการสอนครั้งนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการนำกิจกรรมในห้องเรียน หรือช่วยการสอน ซึ่งผมเชื่อว่าด้วยสังคมปัจจุบัน  ถ้าเราไม่ให้โอกาสเขาได้เห็นโลกที่กว้างมากขึ้น และปลูกฝังแนวคิดเรื่องการแบ่งปัน เขาก็จะไม่รู้ว่าจะทำให้สังคมดีขึ้นได้อย่างไร ต้องขอบคุณ Saturday School Foundation ที่ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา และขอบคุณบริษัทฯ ที่ทำให้ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง รวมถึงจริงจังกับการพัฒนารากฐานของประเทศผ่านการศึกษามาโดยตลอด โดยผมมองว่าการได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวถือเป็นประตูแห่งโอกาสทั้งสำหรับผมและครอบครัว และได้เห็นการศึกษาที่ไร้ซึ่งขีดจำกัดอย่างแท้จริง”

วุฒิพงษ์ วงษ์ชัยวัฒนกุล ผู้จัดการโครงการ After School Program

วุฒิพงษ์ วงษ์ชัยวัฒนกุล ผู้จัดการโครงการ After School Program กล่าวถึงการขับเคลื่อนโครงการฯ ว่า “ความตั้งใจของมูลนิธิคืออยากให้คนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อขยายโอกาสในระบบการศึกษาไปด้วยกัน โดยนอกจากวิชาพื้นฐานอย่างคณิตศาสตร์ และ ภาษาอังกฤษ แล้ว เรายังเปิดสอนวิชาอื่นๆ อย่าง ภาษาญี่ปุ่น การเขียนโปรแกรม ดนตรี และสะเต็มศึกษา (STEM) อีกด้วย โดยหลังจากผ่านการคัดเลือก อาสาสมัครทุกคนต้องเข้าอบรมก่อน ซึ่งเราเน้นการเรียนการสอนแบบ Active Learning คือให้เด็กๆ เรียนรู้ผ่านการมีส่วนร่วมในห้องเรียน เช่น การเรียนผ่านเกมการ์ด ผ่านการจำลองสถานการณ์ เป็นต้น

ระหว่างอบรมครูอาสา เราเน้นเสมอว่าอยากให้ห้องเรียนเป็น Sandbox คือเป็นกระบะทรายให้เด็กๆ ลองผิดลองถูกได้ และไม่มีเด็กคนไหนที่ทำสิ่งใดไม่ได้เช่นกัน ในระยะยาว เราอยากเดินทางไปให้ถึงความสำเร็จในการปลดล็อคโมเดลดังกล่าวให้โรงเรียนหรือชุมชนสามารถตั้งกลุ่มดำเนินการรับสมัครครูอาสาได้เองโดยไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลาง เพื่อให้ต่อไปใครที่อยากเข้าร่วมก็สามารถเชิญชวนกันเข้าไปได้ ซึ่งถือเป็นการขยายโอกาสของพื้นที่การศึกษาตามความตั้งใจแรกเริ่มของเรา”

Advertisment

- Advertisment -.