เขียนเล่าข่าว EP. 49 – ตามปตท.ไปเยอรมัน ดูความก้าวหน้าพลังงานไฮโดรเจน เข้าใจ ทิศทางโลก ทิศทางไทย ทิศทาง ปตท. 

- Advertisment-

เมื่อเทรนด์โลกมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน ประเทศพัฒนาแล้ว กำหนดเป้าหมายชัดเจนที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ประเทศไทยไปให้สัตยาบันในเวทีโลก หวังบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065)  

ปตท.ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ เร่งเป้าหมายให้เร็วขึ้นเพื่อช่วยให้ค่าเฉลี่ยของประเทศดีขึ้น โดยจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2583 (ค.ศ. 2040) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ในขณะที่ภายในปี 2573 (ค.ศ.  2030) ก็ประกาศเจตนารมณ์มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบจากปี 2563 (ค.ศ. 2020) ลง 15%

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

โดยวิสัยทัศน์ใหม่ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” ที่เริ่มมาในยุค คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อกลางปี 2563  นั้น จะเป็นส่วนสำคัญที่จะนำพา ปตท.ไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ ซึ่งในส่วนของ  Future Energy  นั้น ปตท.ให้ความสำคัญกับ พลังงานไฮโดรเจน ที่สอดคล้องกับทิศทางพลังงาน ที่ประเทศพัฒนาแล้วกำลังเดินไป  เพราะพลังงานไฮโดรเจน นั้น มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์ การที่ผู้บริหาร ปตท.พาคณะสื่อมวลชนของไทย เดินทางไปดูงานด้านนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ของกลุ่ม ปตท.เมื่อปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา  จึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจในทิศทางพลังงานของโลกและทิศทางของไทยรวมทั้งทิศทางของ ปตท. ที่เชื่อมโยงกันด้วย 

- Advertisment -

สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า เยอรมัน นั้น เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านวิศวกรรม และการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ  ทริปดูงานครั้งนี้มีผู้บริหาร ปตท.ที่เป็นหัวขบวน 2 คน ที่นำคณะสื่อมวลชน ทั้งทีวี สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์  ดูงาน คือ คุณอรรถพล และ คุณบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยนอกเหนือจากการบรรยายเนื้อหาให้เข้าใจถึงภาพรวมทั้งหมดในห้องประชุมแล้ว  จุดดูงานสำคัญเกี่ยวกับพลังงานไฮโดรเจน  ที่ได้ดูของจริง คือ สถานีจ่ายพลังงานไฮโดรเจน ที่ติดตั้งอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน  มองดูเหมือนขับรถเข้าไปเติมน้ำมัน แล้วมีหัวจ่ายไฮโดรเจนอยู่ ถัดไปอีกตู้  และอีกจุดดูงาน คือกระบวนการผลิตไฮโดรเจน  ของ บริษัท ธิสเซ่นครุปป์ (Thyssenkrupp )

บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ในจุดดูงานแรกที่เป็นสถานีเติมไฮโดรเจนในเยอรมัน พนักงานที่สถานีบอกว่า ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้ชาวเยอรมัน เพราะมีแค่รถยนต์บางยี่ห้อเท่านั้น ที่เติมได้ ซึ่งในช่วงเวลาที่คณะสื่อมวลชนลงไปดูนั้น รถยนต์ส่วนใหญ่ที่เข้ามาที่สถานี ล้วนมาเติมน้ำมัน ไม่มีคันไหนขับมาเติมไฮโดรเจนเลย โดยปัจจัยเรื่องราคาที่ยังแพงกว่าน้ำมันอาจจะเป็นเหตุผลสำคัญ ซึ่งราคา ณ วันที่ 25 มีนาคม 2567  อยู่ที่ 15.75 ยูโร ต่อกิโลกรัม 

ในการใช้พลังงานไฮโดรเจนสำหรับการขนส่งนั้น ในปีที่ผ่านมา ปตท.ได้ร่วมกับพันธมิตร ทั้ง บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) บีไอจี โตโยต้า ทดลองเปิดสถานีนำร่องใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electrical Vehicle : FCEV) เป็นแห่งแรกในประเทศไทยแล้ว ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไรของโตโยต้าจำนวน 2 คัน มาทดสอบการใช้งานในรูปแบบรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี (U-Tapao Limousines) สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา-ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อเก็บข้อมูลเชิงเทคนิคที่ได้จากการใช้งานจริงเพื่อเป็นข้อมูลรองรับการขยายผลใช้งานในอนาคต ซึ่งก็มีปัญหาการใช้ไฮโดรเจน  เช่นเดียวกับที่เยอรมัน ที่ใช้มาก่อนไทย คือต้นทุนที่สูง แต่ผู้บริหาร เชื่อว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้าพลังงานไฮโดรเจน จะเป็นพลังงานแห่งอนาคตเมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาก็จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตถูกลงเรื่อยๆ

คุณบุรณิน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า พลังงานไฮโดรเจน ที่ใช้ในภาคขนส่งของไทยนั้น จะเหมาะกับการเติมรถบรรทุกขนส่งขนาดใหญ่ ที่เดินทางระยะไกล  มีการลงทุนสถานีไม่มากนักเฉพาะจุดเริ่มต้น และปลายทางการขนส่งเท่านั้น  ไม่เหมาะกับการสร้างสถานีสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล  ซึ่งในอนาคตกลุ่มรถยนต์นั่ง ควรเป็นรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า จะเหมาะสมกว่า 

ในด้านการขับเคลื่อนการใช้ไฮโดรเจนในประเทศไทยนั้น ปตท.ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (บีไอจี) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) มีการจัดตั้ง Hydrogen Thailand Club ขึ้นมาในปีนี้ เพื่อศึกษาและทดสอบการใช้งานไฮโดรเจนในภาคขนส่ง (Fuel Cell Electrical Vehicle (FCEV) Demonstration Project) สำหรับรถบรรทุก โดยกำลังศึกษาการตั้งสถานีเติมกรีนไฮโดรเจน โดยนำไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มาแยกน้ำเพื่อให้ได้ไฮโดรเจน เหมือนมีโรงงานไฮโดรเจนในปั๊ม เบื้องต้นจะใช้พื้นที่แถบอีอีซี เพื่อตั้งสถานีเติมกรีนไฮโดรเจนกับฟีดรถบรรทุก ที่มีเส้นทางวิ่งที่แน่นอน คาดว่าปีนี้จะมีข้อสรุปในการทำสถานีเติมไฮโดรเจน รวมทั้งพันธมิตรฟีดรถบรรทุกที่สนใจเข้าร่วม

ในจุดดูงานแห่งที่สอง ที่ บริษัท ธิสเซ่นครุปป์ (Thyssenkrupp ) นั้น ก็ได้รู้ว่า Thyssenkrupp เป็นบริษัทชั้นนำของโลกที่ก่อตั้งมากว่า 200 ปี ปัจจุบันให้บริการด้านการวางแผน การก่อสร้าง และการให้บริการวิศวกรรมแก่โรงงานเคมีและปิโตรเคมีอย่างครบวงจร มีพนักงานกว่า 100,000 คน มีบริษัทลูกตั้งอยู่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย และเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในดัชนี MDAX โดยในปี 2566 มียอดขายรวมกว่า 37,500 ล้านยูโร

Thyssenkrupp ดำเนิน 5 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย ด้านเทคโนโลยียานยนต์ (Automotive Technology), ด้านการบริการด้านวัสดุ (Materials Services), ด้านเทคโนโลยีลดคาร์บอน (Decarbon Technologies), ด้านระบบยุทธนาวี (Marine Systems) และด้านเหล็กยุโรป (Steel Europ) เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญด้าน R&D มีศูนย์วิจัยกว่า 75 แห่งทั่วโลกโดยได้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการอนุรักษ์สภาพอากาศ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน (Green Transformation) ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

จุดในการดูงานคือกระบวนการผลิตไฮโดรเจน ที่ทาง Thyssenkrupp สามารถพัฒนาใช้ได้ในเชิงพาณิชย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีขนาดกำลังผลิตมากที่สุดในโลกขณะนี้คือ 2 เมกะวัตต์  เพื่อให้เห็นว่า เทคโนโลยีการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์นั้น ทำได้จริงและจะพัฒนาให้มีต้นทุนที่ลดลงเรื่อยๆ ในอนาคตได้ 

คุณบุรณิน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทาง ปตท.ร่วมกับธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์ (Thyssenkrupp Uhde ) กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตเมทานอลจากคาร์บอนไดออกไซด์ในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เบื้องต้นมีขนาดกำลังผลิตราว 100,000 ตัน/ปี และสามารถขยายกำลังการผลิตได้ถึง 2 ล้านตัน/ปี ขณะที่ความต้องการใช้เมทานอลในไทยเฉลี่ยปีละ 700,000 ตัน

โดยโครงการดังกล่าวจะนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์และทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจน ให้ เป็นเมทานอล (Green Methanol) ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีความเป็นไปได้เชิงเทคโนโลยี แต่ในด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากต้นทุนการผลิตเมทานอลจากคาร์บอนไดออกไซด์พบว่าสูงกว่าเมทานอลจากก๊าซธรรมชาติ โดยมีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ต่ำกว่า 10% ขณะที่การตัดสินใจลงทุนโครงการของ ปตท.จะต้องมี IRR เฉลี่ย 14-15% ทำให้ธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์ต้องหาแนวทางในการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายลงเพื่อให้โครงการนี้มี IRR ที่สูงขึ้น รวมทั้งยังต้องเปรียบเทียบต้นทุนการนำคาร์บอนไปกักเก็บในหลุมปิโตรเลียมที่ไม่ได้ใช้แล้ว (CSS) หรือการเสียภาษีคาร์บอนว่าแบบไหนมีความเหมาะสม คุ้มค่ากว่ากัน คาดว่าผลการศึกษาจะได้ข้อสรุปในปีนี้

สำหรับ โครงการผลิตเมทานอลจากคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดกำลังผลิต 1 แสนตัน/ปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 80 ล้านยูโร หรือราว 3,200 ล้านบาท หาก ปตท.ตัดสินใจลงทุนก่อสร้างโรงงานดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่นิคมฯ มาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อให้ใกล้โรงแยกก๊าซฯ โดย คุณบุรณิน บอกว่าปัจจุบันไทยยังไม่มีโรงงานผลิตเมทานอล แต่นำเข้าจากตะวันออก โดยเมทานอลเป็นสารสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเคมี การก่อสร้างและอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติก รวมทั้งผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF)

ในภาพรวมของกลุ่ม ปตท. เกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน นั้น  คุณอรรถพล ให้ข้อมูล ว่า  ปตท.ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในไทย ร่วมกับบริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด ( ACWA Power )จากซาอุดีอาระเบีย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่ พบว่าต้นทุนการผลิตโครงการดังกล่าวในไทยสูงกว่าโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวที่ซาอุดีอาระเบีย ที่มีความได้เปรียบในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มเพื่อมาแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ ค่อนข้างมาก ดังนั้น หากต้องการผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นต้องได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างจัดทำหนังสือปกขาวเสนอแนะภาครัฐว่าจะต้องดำเนินการสนับสนุนด้านใดบ้างเพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในไทย

นอกจากนี้ ยังมี โครงการขนาดใหญ่ของ ปตท.สผ. ที่พัฒนากรีนไฮโดรเจน ในโอมาน กำลังการผลิต 2.2 แสนตันต่อปี กำหนดแล้วเสร็จปี 2573  และที่ ปตท.สผ.ร่วมกับพันธมิตรศึกษาความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ (commercial feasibility) ในการจัดตั้งโรงงานผลิตกรีนอีเมทานอล (Green e-methanol) เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำที่ได้จากการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ชีวภาพและการผลิตกรีนไฮโดรเจน โดยนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการผลิต เบื้องต้นคาดว่าโรงงานดังกล่าวจะมีกำลังการผลิตกรีนอีเมทานอลอย่างน้อย 50,000 ตันต่อปี หากผลการศึกษาประสบความสำเร็จจะเริ่มการก่อสร้างโรงงานต้นแบบที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นโรงงานผลิตกรีนอีเมทานอลแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เขียนเล่ายาวมาถึงบรรทัดสุดท้าย ถ้าพูดถึงเรื่องพลังงานไฮโดรเจน คุณผู้อ่านน่าจะเห็นภาพรวมโดยสรุป ว่า ทิศทางโลก กำลังมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ  และ ไฮโดรเจน เป็นพลังงานทางเลือกหนึ่งที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งบริษัทชั้นนำของโลกกำลังพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้มีต้นทุนในเชิงพาณิชย์ที่ต่ำลงเรื่อยๆ   ทิศทางประเทศไทย ก็มีการกำหนดเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับทิศทางโลก   และ ทิศทางของ ปตท. ก็กำลังขับเคลื่อนธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน  แต่จะเร่งเป้าหมายความสำเร็จให้เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ เพื่อช่วยค่าเฉลี่ยให้ผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆที่มีความพร้อมน้อยกว่าได้มีระยะเวลาในการปรับตัว

Advertisment

- Advertisment -.