สรุปยอดนำเข้า LNG ปี 2566 รวม 11.3 ล้านตัน กฟผ.-โรงไฟฟ้าหินกอง จองนำเข้า LNG ปี 2567 แล้ว

- Advertisment-

การนำเข้า LNG ที่แท้จริงปี 2566 รวม 11.3  ล้านตัน แบ่งเป็นสัญญาระยะยาว (Long term) จำนวน 5.1 ล้านตัน และการซื้อแบบราคาตลาดจร (Spot LNG) จำนวน 6.2 ล้านตัน เหตุนำเข้า Spot LNG เพิ่ม เพราะก๊าซฯ ในอ่าวไทยผลิตไม่เพียงพอ ขณะที่ปี 2567 มี Shipper รายใหม่ 2 ราย คือ กฟผ. และโรงไฟฟ้าหินกอง ขออนุญาตนำเข้า LNG กับ กกพ. และลงนามสัญญากับ LNG Suppliers เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานการตรวจสอบข้อมูลของกระทรวงพลังงานเกี่ยวกับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ล่าสุดพบว่า ปัจจุบันไม่มีการอ้างอิงโควตานำเข้า LNG จำนวน 3.02 ล้านตัน ของปี 2566 แล้ว เนื่องจากการกำหนดปริมาณนำเข้า LNG แบบราคาตลาดจร (Spot LNG) ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2564 เป็นการรายงานให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในขณะนั้นเพื่อทราบ เกี่ยวกับการจัดสรรโควตานำเข้า LNG สำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) สำหรับปี 2564 จำนวน 4.8 แสนตัน แต่มีการนำเข้าจริง 6 แสนตัน , ปี 2565 โควตา 4.5 ล้านตัน มีการนำเข้าจริง 1.3 แสนตัน และปี 2566 โควตา 3.02 ล้านตัน   

แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเทียบกับปี 2564 ดังนั้นทำให้การนำเข้า LNG ต้องยึดสถานการณ์ปัจจุบันเป็นหลัก ซึ่งไม่มีการใช้โควตานำเข้า LNG แล้ว โดยสรุปภาพรวมการนำเข้า LNG ปี 2566 มีสูงถึง 11.3 ล้านตัน โดยแบ่งเป็นการนำเข้าตามสัญญาระยะยาว (Long term) จำนวน 5.1 ล้านตัน และการซื้อแบบราคาตลาดจร (Spot LNG) จำนวน 6.2 ล้านตัน ทั้งนี้การนำเข้า Spot LNG ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยยังไม่สามารถผลิตได้ตามแผนและไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศ ส่งผลให้ต้องนำเข้า LNG มาทดแทน เพื่อให้ก๊าซฯ มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ

- Advertisment -

สำหรับการนำเข้า LNG ในปี 2566 นี้ มีเพียง Shipper รายเดียวที่นำเข้ามาคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 3 แสนตัน ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2566 นอกนั้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำเข้า เนื่องจากไม่มี Shipper รายอื่นสนใจนำเข้าในปี 2566 นี้  

อย่างไรก็ตามปัจจุบันเริ่มมี Shipper มาขอนำเข้า LNG ในปี 2567 โดยแจ้งข้อมูลความต้องการใช้และปริมาณการนำเข้า LNG กับทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไว้แล้ว ได้แก่ กฟผ. ซึ่งจะนำเข้าตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 จำนวน 1.5 ล้านตัน ซึ่งอาจจะแบ่งซื้อเป็นสัญญาระยะยาวประมาณ 1.2 ล้านตัน และ Spot LNG ที่เหลือ 0.3 ล้านตัน และโรงไฟฟ้าหินกอง ได้ขอนำเข้า LNG ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2567 จำนวน 0.6 ล้านตัน เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าหินกอง หน่วยที่ 1 ที่จะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในวันที่ 1 มี.ค. 2567 และมีแผนจะนำเข้า LNG รวม 1.5 ล้านตัน ในปี 2568 สำหรับรองรับโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1 และหน่วยที่ 2 ที่จะเริ่ม COD ในวันที่ 1 ม.ค. 2568

ดังนั้นหากในปี 2567 การผลิตก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณ ในอ่าวไทย กลับมาผลิตได้ตามสัญญาที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามกำหนดในเดือน เม.ย. 2567 จะทำให้ไทยสามารถลดการซื้อ Spot LNG ลงได้ และทำให้การนำเข้า LNG ปี 2567 น้อยกว่าปี 2566 ที่นำเข้า 6.2 ล้านตัน แต่หากการผลิตก๊าซฯ ไม่เป็นไปตามแผนก็อาจต้องใช้ LNG มาทดแทนเพิ่ม          

อย่างไรก็ตามในปี 2567 นี้ หาก Shipper รายใหม่ต้องการนำเข้า LNG เพื่อมาใช้กับโรงไฟฟ้าของตัวเอง หรือผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้ลูกค้าอุตสาหกรรม โดยไม่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าประเทศ ก็สามารถยื่นเสนอปริมาณนำเข้า LNG มาให้ กกพ.พิจารณาอนุมัติได้ แต่ต้องเข้าหลักเกณฑ์เป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่ต้องการใช้ LNG และไม่มีผลกระทบต่อสัญญา Take or Pay ( สัญญาไม่ซื้อก็ต้องจ่าย ) กับ ปตท. ก็สามารถยื่นขอนำเข้า LNG ได้ตามปกติ

สำหรับผู้นำเข้า LNG จะต้องเป็น Shipper ที่ กกพ. อนุมัติ ซึ่งปัจจุบันมี Shipper รายเดิม 1 รายคือ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และรายใหม่ทั้งสิ้น 7 รายประกอบด้วย

1.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

2.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

3.บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด

4.บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด

5.บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก

6.บริษัท PTT Global LNG Company Limited หรือ PTTGL

7.บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG

Advertisment

- Advertisment -.