สกนช. ปรับลดเงินชดเชย LPG เหลือ 1.8295 บาทต่อกิโลกรัม หลังราคา LPG โลกลดลง ช่วยตรึงราคาจำหน่าย 423 บาทต่อถัง ถึง ก.ย. 2568

74
- Advertisment-

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ประกาศปรับลดเงินชดเชยราคา LPG เหลือ 1.8295 บาทต่อกิโลกรัม หลังราคา LPG โลกลดลง ส่งผลภาพรวมบัญชี LPG ติดลบเหลือ -43,876 ล้านบาท ขณะที่ราคาจำหน่ายปลีก LPG ยังคงเท่าเดิมที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2568 นี้ สำหรับบัญชี LPG มีเงินไหลเข้าประมาณ 589 ล้านบาทต่อเดือน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า นางไพลิน ฟุ้งเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักการเงินและบัญชี และในฐานะรักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ลงนามเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2568 ประกาศ “การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย อัตราเงินคืนจากกองทุน และอัตราเงินชดเชยคืนกองทุนสำหรับก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)” โดยกำหนดเปลี่ยนแปลงเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในบัญชี LPG ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. 2568 เป็นต้นไป

สำหรับประกาศดังกล่าวได้กำหนดให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ส่งเงินเข้ากองทุนฯ สำหรับ LPG ที่ผลิตในประเทศเพื่อจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิง ในอัตรา 5.8384 บาทต่อกิโลกรัม โดยปรับลดลงจากเดิมที่กำหนดไว้ 6.0478 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ไม่รวมถึง LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซฯของ บริษัท ปตท. สผ. สยาม จำกัด อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร และ LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ของ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) อ.กงไกรลาศ จ. สุโขทัย

- Advertisment -

 อย่างไรก็ตามให้ บริษัท ยูเอซี โกลบอลฯ ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตรา 4.1301 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงจากเดิมที่กำหนดให้ส่งเข้า 4.3395 บาทต่อกิโลกรัม

พร้อมกันนี้ได้ปรับเงินชดเชยราคา LPG ลดลงเป็น 1.8295 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมชดเชยอยู่ 2.0389 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ไม่รวม LPG จากการแยกก๊าซฯ ที่ซื้อหรือได้จากรัฐ ผู้รับสัมปทาน หรือผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) โดยโรงแยกก๊าซฯ ของ บริษัท ปตท. สผ.สยาม จำกัด โดยราคาขายปลีก LPG ยังคงเท่าเดิมที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ถึง 30 ก.ย. 2568 หลังจากนั้นต้องรอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาอีกครั้งต่อไป

รวมทั้งกำหนดเงินส่งเข้ากองทุนฯ สำหรับ LPG ที่ซื้อหรือได้มาจากโรงแยกก๊าซฯ ของ บริษัท ปตท. สผ. สยาม จำกัด ในอัตราเดิมที่ 4.6876 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วนกรณี LPG ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปต่างประเทศ ตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 และได้รับเงินชดเชยจากกองทุนฯ แล้ว ให้ส่งเงินชดเชยคืนกองทุนฯ 1.8295 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงจากเดิมที่กำหนดให้ส่งเข้า 2.0389 บาทต่อกิโลกรัม

สำหรับบัญชี LPG ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุด ณ วันที่ 20 ก.ค. 2568 ภาพรวมติดลบอยู่ -43,876 ล้านบาท โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) กำหนดกรอบวงเงินสำหรับอุดหนุนราคา LPG ได้ไม่เกิน 50,000 ล้านบาท ปัจจุบันกองทุนฯ มีเงินไหลเข้าจาก LPG จำนวน 19.66 ล้านบาทต่อวัน (ประมาณ 589 ล้านบาทต่อเดือน) ขณะที่ราคา LPG โลกเดือน ก.ค. 2568 อยู่ในระดับประมาณ 560 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ลดลงจากเดือน มิ.ย. 2568 ที่อยู่ในระดับ 585 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

สำหรับประกาศดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่กำหนดนโยบายให้ กบน. บริหารกองทุนฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความเสี่ยงกรณีเกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงดังนี้

1.มีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้นทุนการจัดหาจากโรงแยกก๊าซฯ ,ต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ ของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ ของบริษัท ยูเอซี โกลบอลฯ มีราคาสูงกว่านำเข้า 2.มีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคา LPG ในตลาดโลกเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ เฉลี่ยมากกว่า 35 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน 3. มีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคา LPG  ในประเทศเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ รวมกันมากกว่า 1 บาทต่อกิโลกรัม  และ 4. มีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาขายปลีก LPG ในประเทศสูงขึ้นในระดับเกินกว่า 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทั้งนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนหรือชะลอการขาดแคลนในประเทศ เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจของประเทศ

Advertisment