รวมผลประกอบการไตรมาสแรก 2567 ธุรกิจน้ำมันและโรงกลั่นในประเทศ ล้วนรายได้เพิ่ม กำไรพุ่ง

- Advertisment-

รวมผลประกอบการไตรมาสแรกในปี 2567 ของธุรกิจน้ำมันและโรงกลั่นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้ง TOP OR บางจาก SPRC IRPC ล้วนมีรายได้และผลกำไรที่เติบโตขึ้น สะท้อนถึงภาพรวมที่ดีของอุตสาหกรรมน้ำมันและโรงกลั่นในประเทศ

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC) รวบรวมข้อมูลผลประกอบการไตรมาสแรกของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันซึ่งแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่น่าสนใจ มีดังนี้

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ผลประกอบการในไตรมาส 1/2567 มีกำไรสุทธิ 5,863 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินกับน้ำมันดิบดูไบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังได้รับแรงหนุนจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นในประเทศสหรัฐฯ ส่งผลให้อุปทานน้ำมันเบนซินเพื่อส่งออกตึงตัว รวมถึงส่วนต่างราคาน้ำมันดิบที่ใช้กลั่นจริงเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบ (Crude Premium) ปรับตัวลดลง หลังจีนและอินเดียลดการซื้อน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง ในขณะที่อุปทานจากตะวันออกกลางปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาค 

- Advertisment -

โดยภาพรวมกลุ่มไทยออยล์มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มฯ รวมผลกระทบจากสต๊อกนํ้ามันอยู่ที่ 10.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในไตรมาส 1/2567 เพิ่มขึ้น 6.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากไตรมาส 4/2566


สำหรับภาพรวมธุรกิจโรงกลั่นในช่วงไตรมาส 2/2567 นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ TOP มองว่ามีแนวโน้มอ่อนตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2567 หลังได้รับแรงกดดันจากโรงกลั่นใหม่หลายแห่งที่เริ่มเปิดดำเนินการ ทำให้อุปทานปรับเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงกลั่นยังได้รับแรงหนุนจากโรงกลั่นรัสเซียที่ยังคงอยู่ในระหว่างการปิดปรับปรุงจากการถูกโจมตี ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดีเซลมีแนวโน้มตึงตัว ในขณะที่อุปสงค์น้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ ท่ามกลางปริมาณสต๊อกน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลทั่วโลกที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลัง และสำหรับภาพรวมของธุรกิจโรงกลั่นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 มีแนวโน้มปรับตัวสู่สมดุล โดยคาดว่าจะอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19

ดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  OR

บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ภายใต้การนำของนายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2567 มีกำไรสุทธิ จำนวน 3,723 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนกว่า 100% โดยคิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 0.31 บาท  สำหรับ EBITDA ในไตรมาส 1 อยู่ที่ 6,173 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,650 ล้านบาท หรือกว่า 100% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 โดยเพิ่มขึ้นจากทุกกลุ่มธุรกิจ ซึ่งกลุ่มธุรกิจ Mobility จากภาพรวมมีกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่ดีขึ้น

บัณฑิต หรรษาไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน)


บริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) (BSRC) ที่มีนายบัณฑิต หรรษาไพบูลย์ เป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แจ้งว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 1 / 2567 มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 63,583 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยมี EBITDA 2,117 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 855 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 198% จากไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น 263% จากช่วงเดียวกันของปี 2566 คิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 0.25 บาท  

ส่วนภาพรวมทั้งกลุ่มบริษัทบางจากภายใต้การนำของนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก  ผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2567 มีรายได้จากการขายและให้บริการ 135,382 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 68 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 คิดเป็น EBITDA รวม 15,308 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 จากไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 จากช่วงเดียวกันของปี 2566 และมีกำไรสำหรับงวดส่วนของบริษัทใหญ่ 2,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสก่อน คิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 1.68 บาท 

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก

โดยในไตรมาส 1 ปี 2567 กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน (โรงกลั่นพระโขนงและโรงกลั่นศรีราชา) มี EBITDA 4,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566   ค่าการกลั่นพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (จาก  4.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในไตรมาส 4 ปี 2566 มาเป็น 6.08 เหรียญสหรัฐฯ)

กลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA 1,899 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ด้วยปริมาณการจำหน่ายน้ำมันรวมทุกช่องทางสูงถึง 3,541 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสแรกปี 2566  เติบโตจากเครือข่ายสถานีบริการที่ครอบคลุม 2,217 สถานีทั่วประเทศ  มียอดขายและส่วนแบ่งการตลาดผ่านสถานีบริการที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 29.2 (จากร้อยละ 28.8 ณ สิ้นปี 2566)

โรเบิร์ต โดบริค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC

บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC  ภายใต้การนำของ โรเบิร์ต โดบริค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ  มีผลกำไรสุทธิในไตรมาสแรกของปี 2567 รวม 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นมีปัจจัยหลักมาจากค่าการกลั่นที่สูงขึ้น กำไรจากสต๊อกน้ำมันเนื่องจากราคาน้ำมันเฉลี่ยสูงขึ้น รวมถึงธุรกิจการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เข้าซื้อเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา 

สำหรับปริมาณน้ำมันดิบที่โรงกลั่นนำเข้ากลั่นในไตรมาสแรกของปี 2567 อยู่ที่ 167,000 บาร์เรลต่อวัน หรือเทียบเท่ากับร้อยละ 96 ของกำลังการกลั่นทั้งหมด ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ค่าการกลั่นทางการตลาดในไตรมาสแรกของปีนี้ปรับตัวดีขึ้นเป็น 8.31 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับ 6.36 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 จากพรีเมียมน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ รวมถึง อัตรากําไรขั้นต้นที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนจากน้ำมันมาตรฐานยูโร 4 มาเป็นยูโร 5 

กฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC 

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC  ภายใต้การบริหารของ นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2567  โดยมีกำไร  1,545  ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 413 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566  และเพิ่มขึ้นร้อยละ 145 จากไตรมาส 4/2566  โดยมีรายได้รวม 74,644  ล้านบาท ลดลง 652 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2566  จากการที่บริษัทฯ สามารถผลิตและจำหน่ายน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ภายในประเทศในไตรมาส 1/2567 ส่งผลให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลที่บริษัทฯ จำหน่ายปรับตัวสูงขึ้น 

นอกจากนี้การลดการผลิตน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องของกลุ่มโอเปกพลัส และความขัดแย้งทางการเมืองในหลายประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาส 1/67 ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน จำนวน 901 ล้านบาท ประกอบกับมีรายการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่ได้รับจำนวน 1,324 ล้านบาท และกำไรจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมัน (Hedging Oil) จำนวน 59 ล้านบาท  รวมเป็นการบันทึกกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิ (Net Inventory Gain) รวม 2,284 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี จำนวน 7,902 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 978%  และมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA จำนวน 4,680  ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 1/2567 ปัจจัยลบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้บริษัทฯ บันทึกขาดทุนจากการทำสัญญาอนุพันธ์ ทางการเงิน 319 ล้านบาท และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินกู้จำนวน 134 ล้านบาท ทำให้ไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 145 จากไตรมาสก่อน 

Advertisment

- Advertisment -.