พลังงาน เผยแนวคิดอัตราค่าไฟฟ้าคงที่ตลอดปี ต้องให้ กพช.เห็นชอบก่อน

- Advertisment-

พลังงาน เผยแนวคิด “อัตราค่าไฟฟ้าคงที่ตลอดปี” ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ระบุช่วยให้ค่าไฟฟ้านิ่ง ภาคเอกชนบริหารจัดการต้นทุนได้ง่าย แต่ราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงล่าช้า เมื่อราคาก๊าซฯ ลดแต่ค่าไฟฟ้าไม่ลด จะเกิดคำถามขึ้นในสังคม ย้ำขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนด้านแผนงานรองรับปัญหา ชี้หากต้องการผลักดันแนวทางดังกล่าวต้องเสนอเรื่องให้กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบก่อน เพื่อสั่งการให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รับดำเนินการ จึงจะทำได้   

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าในปี 2567 จะไม่ปรับสูงขึ้น เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าลดต่ำลง โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับ 10 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู  ขณะที่ราคาเฉลี่ย Pool Gas ลดลง (ราคาเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย+ก๊าซฯ เมียนมา+  LNG​ นำเข้า​ ) โดยในเดือน ก.พ. 2567 อยู่ที่ประมาณ 360 บาทต่อล้านบีทียู แต่แนวโน้มราคาเฉลี่ย Pool Gas เดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 จะลดเหลือ 300 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งจะส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลงได้ แต่เนื่องจากไทยยังมีปัญหาภาระหนี้ค้างจ่ายค่าไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 99,689 ล้านบาท จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าปรับลดลงได้ไม่มากนักในปี 2567 นี้

ส่วนกรณีที่ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ มีแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนวิธีพิจารณาราคาค่าไฟฟ้าจากทุก 4 เดือน เป็นการคำนวณระยะยาวอัตราคงที่ตลอด 1 ปีแทนนั้น เบื้องต้นเห็นว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีคือ จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้านิ่งตลอดปี และช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมรู้ต้นทุนการผลิตสินค้า และวางแผนบริหารจัดการธุรกิจได้ง่าย แต่ข้อเสียคือ ถ้าราคาก๊าซฯ หรือน้ำมันปรับลดลง ราคาค่าไฟฟ้าจะไม่สามารถปรับลดลงได้ทันต่อสถานการณ์ ขณะที่การปรับเปลี่ยนราคาค่าไฟฟ้าทุก 4 เดือนนั้น แม้จะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าแกว่งขึ้นลงบ่อย แต่ก็เป็นราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้อย่างรวดเร็ว

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามแนวคิดราคาค่าไฟฟ้าคงที่ตลอดปี ยังไม่มีรายละเอียดและแผนรองรับที่ชัดเจน เช่น กรณีถ้าเกิดราคาน้ำมัน ราคาก๊าซฯ ปรับลดลง แต่ค่าไฟฟ้าไม่ลดลง ประชาชนจะยอมรับได้หรือไม่ และหากเกิดเหตุการณ์สำคัญกับการเปลี่ยนแปลงราคาพลังงาน ภาครัฐจะบริหารจัดการอย่างไรกับค่าไฟฟ้าคงที่ดังกล่าว เป็นต้น

ทั้งนี้หาก กฟผ. ต้องการให้กระทรวงพลังงานพิจารณาแนวทางค่าไฟฟ้าคงที่ตลอดปี ก็จำเป็นต้องมีรายละเอียดและแผนรับมือกับปัญหาในหลายกรณี และเสนอให้กระทรวงพลังงานพิจารณา นอกจากนี้กระทรวงพลังงานจะต้องเสนอรายละเอียดไปยังคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้พิจารณากรอบนโยบายดังกล่าว ซึ่งปกติถ้า กพช. พิจารณาอนุมัติ มักจะมีกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการ เพื่อให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการตามมติ หรือ กพช.อาจพิจารณาให้ กกพ. ไปดำเนินการศึกษาก่อนก็ได้เช่นกัน

โดยสิ่งสำคัญอยู่ที่ประชาชนจะยอมรับได้หรือไม่ ถ้าประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะรับมือให้ค่าไฟฟ้าอยู่ระดับที่เหมาะสมได้ตลอดปี ก็สามารถดำเนินการจัดทำอัตราค่าไฟฟ้าคงที่ 1 ปีได้ ซึ่งภาครัฐจะมองประชาชนเป็นที่ตั้งอันดับแรก สำหรับทิศทางการคิดค่าไฟฟ้าในต่างประเทศนั้น มีการจัดทำค่าไฟฟ้าแบบคงที่ ในหลายรูปแบบ ทั้งแบบคงที่ 6 เดือน หรือ 1 ปี แต่ส่วนใหญ่ทิศทางค่าไฟฟ้าในต่างประเทศจะใช้รูปแบบตลาดไฟฟ้าเสรีกันไปหมดแล้ว

ดังนั้นแนวคิดอัตราค่าไฟฟ้าคงที่ 1 ปีดังกล่าว ยังเป็นเพียงแนวคิดของ กฟผ. ซึ่งต้องรอให้ กฟผ. เสนอรายละเอียดมาให้กระทรวงพลังงานพิจารณาก่อน   

   ​

Advertisment

- Advertisment -.