ชงกบง.พิจารณาต่ออายุหรือหยุดมาตรการลดราคาLPG และ NGV เยียวยาผลกระทบโควิด-19

cof
- Advertisment-

สนพ. เตรียมเสนอที่ประชุม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาว่าจะต่ออายุมาตรการลดราคา LPG และ NGV เยียวยาผลกระทบ Covid-19 อีกหรือไม่ หลังสิ้นสุดมาตรการในเดือน มิ.ย.นี้ พร้อมพิจารณาโครงสร้างราคา NGV ใหม่ที่ผูกติดราคาน้ำมัน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสนธิรัตน์​ สนธิจิรวงศ์ ​รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ในช่วงปลายเดือนมิ.ย.2563 นี้ เพื่อพิจารณา 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1.พิจารณามาตรการลดราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) 3 บาทต่อกิโลกรัม หรือรวม 45 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ที่ทำให้ ราคาขายปลีก LPG ถังขนาด 15 กิโลกรัม ราคาลดลงจากถังละ 363 บาท  เหลือถังละ 318 บาท  เพื่อช่วยเหลือประชาชนจากปัญหาไวรัส COVID-19 เป็นเวลา 3 เดือน โดยเริ่มมาตั้งแต่ 23 มี.ค.2563 และจะสิ้นสุดใน 23 มิ.ย. 2563  ว่าจะมีการต่ออายุหรือไม่

- Advertisment -

โดยหาก กบง.พิจารณาต่ออายุก็จะไม่มีผลกระทบต่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมากนัก เนื่องจากที่ประชุม กบง.ที่ผ่านมาได้ขยายกรอบวงเงินช่วยเหลือด้านราคา LPG เพิ่มจากเดิมกำหนดเพดานสูงสุดไม่เกิน 7,000 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 10,000 ล้านบาทไปแล้ว แต่หาก กบง.มีมติไม่ต่ออายุมาตรการดังกล่าว ราคา LPG ก็จะกลับมาอยู่ที่ราคาเดิมที่ 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม

2.พิจารณามาตรการลดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) 3 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ เป็นเวลา 3 เดือน ที่ทำให้ราคา NGV ปรับลดลงจาก 13.62 บาทต่อกิโลกรัม เหลือ 10.63 บาทต่อกิโลกรัมเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหา Covid-19 ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2563 และจะสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2563 นี้  โดย สนพ.จะต้องเสนอ กบง.พิจารณาว่าจะต่ออายุมาตรการดังกล่าวอีกหรือไม่  หาก กบง.พิจารณาให้ต่ออายุมาตรการนี้อีกครั้ง ทาง สนพ.ก็ต้องไปหารือกับ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เพื่อช่วยแบกรับภาระดังกล่าวต่อไป จากเดิมแบกรับภาระไว้ 300 ล้านบาท

และ 3. การปรับโครงสร้างราคา ก๊าซ NGV ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มอบหมายให้ สนพ.ศึกษาให้เสร็จภายในสิ้นเดือนมิ.ย.2563 นี้เช่นกัน โดยสนพ. จะเสนอให้ปรับโครงสร้างราคา NGV โดยผูกกับราคาน้ำมันดีเซลหรือเบนซิน แทนการกำหนดสูตรราคาแบบตายตัว (ราคาต้นทุน บวกกำไรและค่าดำเนินการ) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  ซึ่งจะส่งผลให้ราคา NGV สามารถสะท้อนต้นทุนได้ตามกลไกราคาตลาดโลก

โดยหลังจากที่ กบง.มีมติออกมาแล้ว สนพ.ก็จะแจ้งมติให้กระทรวงคมนาคมรับทราบ เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อราคาค่าโดยสาร และต้องหารือมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากค่าโดยสาร  ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.ให้การช่วยเหลือผ่านผู้ประกอบการเป็นหลัก เช่น ผู้ขับแท็กซี่ แต่ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือไปถึงผู้มีรายได้น้อยใช้บริการรถสาธารณะ เป็นต้น

แหล่งข่าวสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยข้อมูล ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุดมีเงินสุทธิ 34,718 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมัน 40,966 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบอยู่ 6,248 ล้านบาท

ทั้งนี้คาดว่าบัญชี LPG มีโอกาสติดลบถึง 7,000 ล้านบาทได้ เนื่องจากตลอดเดือนพ.ค.2563 ราคา LPG โลกขยับขึ้น รวมทั้งประชาชนใช้รถยนต์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากคลายกังวลต่อสถานการณ์ COVID-19 ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือราคา LPG 3 บาทต่อกิโลกรัม มีผลให้เงินไหลออก 8.27 ล้านบาทต่อวัน และหากรัฐไม่ต่ออายุมาตรการหลังสิ้นสุดในวันที่ 23 มิ.ย.2563 จะทำให้กองทุนฯกลับมาเป็นบวกได้ แต่หากต่ออายุมาตรการช่วยเหลือต่อไป ก็ยังมีกรอบวงเงินบัญชี LPG ให้ช่วยเหลือได้ถึง 10,000 ล้านบาท

Advertisment

- Advertisment -.