งานเสวนาสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) สะท้อนแนวโน้มอนาคต เชื่อคนทิ้งรถยนต์น้ำมัน หันใช้รถอีวีเพิ่ม

- Advertisment-


งานเสวนาสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) สะท้อนแนวโน้มอนาคต เชื่อคนทิ้งรถยนต์น้ำมัน หันใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เตรียมความพร้อมรองรับไม่ให้เกิดปัญหาโอเวอร์โหลดในระบบ

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) จัดงาน IEEE PES Day 2024 : เสริมศักยภาพนวัตกรรมการขับเคลื่อนไฟฟ้า (Empowering Electric Mobility Innovation) โดยจัดให้มีปาฐกถาพิเศษในรูปแบบเสวนาขึ้นที่ห้องสัมมนา 3 ชั้น 12 A  อาคาร B  การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่คลองเตย โดยมีนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง และนายกสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) กล่าวเปิดงาน และชี้ให้เห็นถึงนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้มีการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมระบบไฟฟ้าไว้รองรับและรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้นเพื่อตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาล

วิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง และนายกสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย)

งานเสวนาดังกล่าวมี รศ.ดร.สมพร สิริสำราญนุกูล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ กรรมการบริหารสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการธุรกิจ การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA  นายสุโรจน์ แสงสนิท อุปนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยฝ่ายอุตสาหกรรมและพัฒนาธุรกิจ นายมนตร์ชัย ชุ่มอินทรจักร์ หัวหน้ากลุ่มเทคโนโลยีการขนส่งและจราจร กองพัฒนาการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ดร.อัครินทร์ สุวรรณรัตน์  Executive Vice President -Special Projects Special Assistant to CEO, Energy Absolute Public Company Limited และนายกิตพน กิตติอำพน หัวหน้าโครงการ A C Energy Solution บริษัทภายใต้ Arun Plus Group โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

- Advertisment -
จาตุรงค์  สุริยาศศิน รองผู้ว่าการธุรกิจ การไฟฟ้านครหลวง

นายจาตุรงค์ ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า เปรียบเหมือนทฤษฎีไก่กับไข่ ว่าอันไหนจะเกิดก่อนกัน โดยหากมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมากพอที่จะอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ผู้บริโภคก็จะตัดสินใจหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยสร้างความมั่นใจว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศนั้นมีเพียงพอที่จะรองรับความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น อย่างไรก็ตามจะยังมีปัญหาในบางจุดที่เป็น hot spot ซึ่งอาจจะเกิด overload ขึ้นในระบบหากมีการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าหลายคันพร้อมๆ กันในคราวเดียว ซึ่งทาง MEA ก็เตรียมความพร้อมที่จะลงทุนติดตั้งอุปกรณ์เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว

“ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปของคนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า โดยจะเปลี่ยนระบบมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นระบบ TOU rate ที่การคิดค่าไฟฟ้าช่วงกลางวันจะเก็บแพงกว่าอัตราปกติ 5.80 บาทต่อหน่วย แต่หลังสี่ทุ่ม อัตราค่าไฟฟ้าจะเหลือเพียง 2.60 บาทต่อหน่วย ดังนั้นช่วงกลางวัน คนกลุ่มนี้อาจจะมีการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งใช้เอง และตอนกลางคืนหลังสี่ทุ่มเป็นต้นไป ก็จะชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมๆกัน ซึ่งหากอยู่ในจุดเดียวกันก็อาจจะมีปัญหาโอเวอร์โหลดในระบบได้ ดังนั้น ทาง MEA จึงแนะนำให้ผู้บริโภคใช้ smart charger ที่จะสามารถเลือกเฉลี่ยเวลาการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว โดยมีแรงจูงใจที่จะให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า หรือให้ MEA point เพื่อลดทอนโหลดลง

นายจาตุรงค์ ยังคาดการณ์ด้วยว่าอีก 10 ปีข้างหน้าคนจะหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายและใครไม่มีรถยนต์ไฟฟ้าใช้อาจจะกลายเป็นคนตกยุค

สุโรจน์ แสงสนิท อุปนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยฝ่ายอุตสาหกรรมและพัฒนาธุรกิจ 

ด้านนายวิโรจน์ โชว์ข้อมูลสถิติให้เห็นถึงจำนวนตัวเลขยานยนต์ไฟฟ้า ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ โดยมียอดจดทะเบียนสะสมแล้วกว่า 100,000 คัน หรือประมาณ 12% ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งการบรรลุเป้าหมายที่รัฐตั้งไว้ว่าจะมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าทะลุ 30 % ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมดในปี 2030 มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากราคารถยนต์ไฟฟ้าและราคาแบตเตอรี่จะมีต้นทุนที่ถูกลงเรื่อยๆ  

สถิติการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า

นายวิโรจน์ มองว่าความตั้งใจของรัฐบาลนั้นต้องการให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการส่งออกด้วย ส่วนผลกระทบของภาคการผลิตชิ้นส่วนนั้น ถึงแม้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันจะมีชิ้นส่วนกว่า 30,000 ชิ้น แต่รถยนต์ไฟฟ้ามีประมาณเพียง 3,000 ชิ้น แต่ชิ้นส่วนกว่า 20,000 ชิ้นในรถยนต์น้ำมันนั้น เป็นชิ้นส่วนที่อยู่ในเครื่องยนต์ซึ่งผลิตและประกอบมาจากต่างประเทศ จึงไม่กระทบกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยมากอย่างที่กังวล โดยชิ้นส่วนสำคัญที่มีฐานผลิตในประเทศเช่น ล้อ ยาง ผ้าเบรค กระจก นั้น รถยนต์ไฟฟ้า ก็ใช้เหมือนรถน้ำมัน

มนตร์ชัย ชุ่มอินทรจักร์  หัวหน้ากลุ่มเทคโนโลยีการขนส่งและจราจร กองพัฒนาการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)กระทรวงคมนาคม

ด้านนายมนต์ชัย กล่าวโดยสรุปว่า สนข. พยายามที่จะส่งเสริมผลักดัน E Mobility ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางราง แต่ตัวเลขยังดูห่างไกลจากเป้าหมาย เนื่องจากมีปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งอัตราค่าโดยสารยานยนต์ไฟฟ้าที่ถูกจำกัดเมื่อเทียบกับรถสันดาป การลงทุนของผู้ประกอบการทั้งการเช่าหรือซื้อ เพื่อให้บริการประชนที่เป็นสาธารณะยังขาดแรงจูงใจ   อย่างไรก็ตามก็เป็นเรื่องท้าทายที่จะต้องผลักดันทำให้ได้ 

ความท้าทายในการขับเคลื่อน EV Transportation
ดร.อัครินทร์ สุวรรณรัตน์  Executive Vice President -Special Projects Special Assistant to CEO, Energy Absolute Public Company Limited.

ด้าน ดร. อัครินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทพยายามที่จะลงทุนตั้งแต่ต้นทางในเรื่องแบตเตอรี่ ที่ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญและจำเป็นสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพราะแบตเตอรี่ถือเป็นต้นทุนประมาณ 30% ของรถ โดยมีการขยายโรงงานผลิตแบตเตอรี่เป็นขนาด 2 GWh ซึ่งจะแล้วเสร็จกลางปีนี้ และจะขยายเป็น 4 GWh เมื่อมีความต้องการใช้มากขึ้น โดยมองว่า ตลาด E Logistics จะค่อนข้างใหญ่ในอนาคต ทั้งการขนส่งทางเรือ รถบรรทุก และรถไฟที่ใช้ไฟฟ้า ซึ่งแนวโน้มราคาแบตเตอรี่ที่ลดลงมากจะเป็นแรงจูงใจสำคัญให้คนหันมาใช้มากขึ้น และสิ่งที่บริษัทต้องเตรียมตัวคือเรื่องการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ซึ่งต้องรอปริมาณแบตเตอรี่ที่หมดอายุใช้งานแล้วให้มีจำนวนมากพอ ส่วนที่ทำได้ก่อนคือการทำ second life ของแบตเตอรี่ ซึ่งนำมาใช้กับโซลาร์รูฟท็อปที่ติดตั้งตามบ้านได้ 

กิตพน กิตติอำพน หัวหน้าโครงการ A C Energy Solution บริษัทภายใต้ Arun Plus Group.

นายกิตพน กล่าวถึงธุรกิจของ กลุ่ม ARUN PLUS ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ว่ามีการลงทุนมาแล้ว 3 ปี เพื่อรองรับการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งซัพพลายเชน ซึ่งแนวโน้มในอนาคตเชื่อมั่นว่าผู้บริโภคจะเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะรถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาถูกลง และวิ่งได้ระยะทางที่ไกลขึ้น 

Screenshot
Advertisment

- Advertisment -.