กองทุนน้ำมันฯ คาดปลดหนี้ 1 แสนล้านบาท จากวิกฤติราคาพลังงานปี 2565 ได้หมดภายในสิ้นเดือน ก.ค. 2566 นี้

- Advertisment-

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ระบุหนี้น้ำมันและก๊าซหุงต้ม(LPG) กว่า 1 แสนล้านบาท ที่กองทุนน้ำมันฯ ใช้ตรึงราคาช่วยเหลือประชาชนช่วงวิกฤติราคาพลังงานแพงเมื่อปี 2565 คาดจ่ายคืนผู้ค้า ม.7 ได้หมดภายในเดือน ก.ค. 2566 เนื่องจากที่ผ่านมาทยอยชำระคืน จนปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น พร้อมชะลอการกู้เงินเฟส 2 เหลือเพียง 25,000 ล้านบาท จากเป้าหมายจะกู้ 40,000 ล้านบาท เหตุกองทุนฯ เริ่มมีสภาพคล่องสูงขึ้น   

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC) รายงานว่า นับตั้งแต่เกิดวิกฤติราคาพลังงานเมื่อปี 2565 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้เข้ามาตรึงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม (LPG) เพื่อช่วยเหลือประชาชน จนทำให้กองทุนน้ำมันฯ เป็นหนี้ผู้ค้าน้ำมันและก๊าซ LPG รายใหญ่ หรือ ผู้ค้า ม. 7 รวมกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ทยอยชำระหนี้มาโดยตลอด จนปัจจุบันเหลือหนี้รวม 11,712 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้น้ำมันอยู่ 4,846 ล้านบาท และหนี้ LPG อีก 6,866 ล้านบาท

ทั้งนี้ สกนช.คาดว่าจะสามารถชำระหนี้ดังกล่าวได้หมดภายในสิ้นเดือน ก.ค. 2566 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้หนี้ที่เกิดจากการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและLPG ในช่วงวิกฤติพลังงานที่ผ่านมาจบสิ้นลง คงเหลือเพียงหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินสถาบันการเงินเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันเป็นหนี้อยู่ประมาณ 55,000 ล้านบาท ซึ่งหนี้ดังกล่าวกองทุนน้ำมันฯ ก็จะทยอยชำระดอกเบี้ยตามรอบการกู้เงิน โดยปลอดการชำระเงินต้น 1 ปี

- Advertisment -

สำหรับเงินกู้จากสถาบันการเงินดังกล่าว ถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดว่าจะกู้จริงประมาณ 110,000 ล้านบาท โดยรอบแรกได้กู้และใช้เงินหมดแล้ว 30,000 ล้านบาท และรอบ 2 มีกรอบวงเงินกู้ 80,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายจะกู้รวม 40,000 ล้านบาทก่อน แต่เมื่อทำการกู้เงินจริงกลับกู้เพียง 25,000 ล้านบาท เนื่องจากพบว่าสถานการณ์ราคาพลังงานเริ่มปรับตัวดีขึ้นและทำให้กองทุนฯ มีเงินไหลเข้า จนเริ่มมีสภาพคล่องทางการเงิน จึงลดการกู้เงินดังกล่าวลง

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากกองทุนฯ ยังมีสถานะติดลบอยู่ แม้จะเริ่มมีเงินไหลเข้ามาบ้างแล้วก็ตาม ประกอบกับต้องเตรียมความพร้อมรองรับการปรับขึ้นภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร หากกระทรวงการคลังกลับมาเก็บภาษีดีเซลตามเดิมหลังหมดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในวันที่ 20 ก.ค. 2566 นี้ 

ซึ่งการจะกู้เงินกับสถาบันการเงินนั้นจะต้องดำเนินการภายในวันที่ 5 ต.ค. 2566 เท่านั้น เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมากำหนดให้กองทุนฯ กู้เงินได้ภายใน 1 ปี ระหว่างวันที่ 6 ต.ค.2565- 5 ต.ค. 2566 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้กู้ไปแล้วรวม 55,000 ล้านบาท ยังคงเหลือวงเงินกู้ได้อีก 95,000 ล้านบาท ดังนั้นหากพิจารณาสถานะการเงินกองทุนฯ และแผนการใช้เงินแล้ว หากจำเป็นต้องกู้เงินอีก ทาง กบน.จะต้องวางแผนการกู้เงินให้ทันก่อนครบกำหนด 5 ต.ค. 2566

สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันฯ ที่รายงานโดย สกนช. ล่าสุด ณ วันที่ 9 ก.ค. 2566 พบว่า กองทุนฯ ยังคงติดลบอยู่ -52,270 ล้านบาท โดยมาจากบัญชีน้ำมันติดลบอยู่ -6,598 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบอยู่ -45,672 ล้านบาท    

โดยกองทุนฯ ยังมีเงินไหลเข้าประมาณ 357 ล้านบาทต่อวัน เป็นเงินที่เรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์รวม 78.86 ล้านบาทต่อวัน, เงินเรียกเก็บจากผู้ใช้และผู้ค้า LPG 22.74 ล้านบาทต่อวัน และเงินเรียกเก็บจากผู้ใช้ดีเซล 257.71 ล้านบาทต่อวัน

Advertisment

- Advertisment -.