กกพ.เปิดค่าไฟฟ้า ม.ค.-เม.ย. 2567 พุ่ง 4.68-5.59 บาทต่อหน่วย พร้อมรับฟังความเห็นประชาชน 10-24 พ.ย.นี้

- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เผยค่าไฟฟ้างวด ม.ค.-เม.ย. 2567 พุ่งเกิน 4 บาทต่อหน่วย เนื่องจากค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) เพิ่มขึ้นเป็น 64.18 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับค่าไฟฟ้าฐานอีก 3.78 บาทต่อหน่วย และยังต้องใช้หนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีก 95,777 ล้านบาท โดย กกพ. ได้จัดทำอัตราค่าไฟฟ้าใน 3 กรณี แบ่งเป็นกรณีแรกคืนหนี้ กฟผ.ทั้งหมด ส่งผลค่าไฟฟ้าแตะ 5.59 บาทต่อหน่วย, กรณีที่ 2 คืนหนี้ กฟผ. 3 งวด ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.93 บาทต่อหน่วย และกรณีที่ 3 คืนหนี้ กฟผ. 6 งวด ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย พร้อมนำรายละเอียดเปิดรับฟังความเห็นประชาชนระหว่าง 20-24 พ.ย. 2566 นี้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 10 – 24 พ.ย. 2566 ก่อนจะสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการ และนำไปหารือกับภาครัฐเพื่อพิจารณาแนวทางกำหนดราคาค่าไฟฟ้าต่อไป

โดยที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ของ กกพ. เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2566 เห็นชอบผลการคำนวณประมาณการค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567  โดยค่า Ft เพิ่มเป็น 64.18 สตางค์ต่อหน่วย แต่เนื่องจากที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แบกรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าแทนประชาชน จนปัจจุบันมียอดหนี้ที่ประชาชนต้องจ่ายคืน กฟผ. อยู่ที่ 95,777 ล้านบาท ดังนั้น กกพ. จึงได้จัดทำอัตราค่าไฟฟ้าแบ่งเป็น  3 กรณี เพื่อเปิดรับฟังความเห็นประชาชน ได้แก่

- Advertisment -

กรณีที่ 1 (จ่ายคืนหนี้ กฟผ.ทั้งหมด) แบ่งเป็นค่า Ft จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และจ่ายหนี้คืน กฟผ.ทั้งหมด 95,777 ล้านบาทในงวดเดียว ทำให้ค่า Ft รวมเป็น 216.42 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) งวด ม.ค.-เม.ย. 2567 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.95 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 (จ่ายคืนหนี้ กฟผ.ภายใน 1 ปี) แบ่งเป็นค่า Ft จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และจ่ายหนี้คืน กฟผ.จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 งวดๆ ละจำนวน 31,926 ล้านบาท รวมเท่ากับค่า Ft จะอยู่ที่ 114.93 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) งวด ม.ค.-เม.ย. 2567  เพิ่มขึ้นเป็น 4.93 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 (จ่ายคืนหนี้ กฟผ.ภายใน 2 ปี) แบ่งเป็นค่า Ft จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และจ่ายหนี้ กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 6 งวดๆ ละจำนวน 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับค่า Ft จะอยู่ที่ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) งวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย

นายคมกฤช กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยยังอยู่ระหว่างปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 200-400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือน เม.ย. 2567 ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อมาชดเชยก๊าซในอ่าวไทย ซึ่งหากมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้องนำเข้า LNG เพิ่มมากขึ้นอีกตามไปด้วย

นอกจากนี้สถานการณ์สงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยังยืดเยื้อประกอบกับสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันดิบดูไบ และราคา LNG มีความผันผวนสูงจึงมีความเสี่ยงที่ต้นทุนค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 และ ม.ค. – เม.ย. 2567 จะเปลี่ยนแปลงไปจากประมาณการ

อย่างไรก็ตาม กกพ. จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการต้นทุนค่าเชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพในราคาที่เหมาะสม มีความมั่นคง และเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ต่างๆที่อาจเปลี่ยนแปลงไป  นอกจากนี้ สำนักงาน กกพ. ยังคงเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าเพื่อลดการนำเข้า LNG และลดความผันผวนของราคาพลังงาน

Advertisment

- Advertisment -.