กกพ.กำหนด 5 แนวทางคิดค่าไฟฟ้าบนเกาะ พร้อมเปิดรับฟังความเห็น 8-22 ก.ย. 2566 นี้

- Advertisment-

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เตรียมขยายขอบเขตไฟฟ้าไปยัง 12 เกาะทั่วประเทศ ด้านราคาค่าไฟฟ้าต้องกำหนดแนวทางให้ชัดเจนก่อน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็น “(ร่าง) หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับโครงการขยายเขตไฟฟ้าไปยังพื้นที่เกาะ” ระหว่างวันที่ 8-22 ก.ย. 2566 โดยกำหนด 5 แนวทางคิดค่าไฟฟ้าให้การไฟฟ้าดำเนินการตาม

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็น “(ร่าง) หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับโครงการขยายเขตไฟฟ้าไปยังพื้นที่เกาะ” ระหว่างวันที่ 8-22 ก.ย. 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ของ สำนักงาน กกพ. www.erc.or.th

ทั้งนี้ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 มีมติเห็นชอบนโยบายกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2564-2568 และกรอบแนวทางการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ซึ่งหลักการทั่วไปกำหนดให้อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทต้องเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ (Uniform tariff) ยกเว้นในกรณีดังนี้

- Advertisment -

1.กรณีที่เป็นการตกลงซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันโดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ 2.กรณีที่เป็นการซื้อขายไฟฟ้าบนพื้นที่เกาะ 3. กรณีที่เป็นการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศ 4.กรณีที่เป็นกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความต้องการคุณภาพหรือบริการด้านไฟฟ้าที่แตกต่างจากปกติ หรือ 5.กรณีอื่นๆ

อย่างไรก็ตามในปี 2565 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) มีการให้บริการไฟฟ้าโดยขยายเขตระบบไฟฟ้าให้มีการเข้าถึงระบบไฟฟ้า 99.90% ของพื้นที่บริการทั้งหมด โดยมีแผนงานขยายเขตระบบไฟฟ้าผ่านโครงการลงทุนเพื่อให้บริการที่ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ 74 จังหวัดของไทย และมีหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการดำเนินงานสำหรับการขยายเขตไฟฟ้าไปยังพื้นที่บนบกแล้ว

สำหรับการขยายเขตไปยังพื้นที่เกาะที่ไม่มีไฟฟ้าใช้นั้น ในเดือน ก.ย. 2565 PEA ได้เชื่อมโยงระบบไฟฟ้าไปสู่เกาะต่างๆ เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่รับผิดชอบของ PEA ที่อาศัยอยู่บนเกาะต่างๆ รวม 61  เกาะ จากเกาะทั่วประเทศทั้งหมดประมาณ 936 เกาะ และมีเกาะที่บริษัทเอกชนผลิตไฟฟ้าเพื่อขายไฟฟ้าและผลิตใช้เองประมาณ 21 เกาะ

โดย PEA มีแผนจะดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้พื้นที่เกาะต่างๆ 12 เกาะ ได้แก่ เกาะจิก จ.จันทบุรี, เกาะขาม จ.ชลบุรี, เกาะหมากน้อย เกาะไม้ไผ่ จ.พังงา, เกาะพยาม เกาะช้าง จ.ระนอง, เกาะกระเต็น เกาะนกตะเภา จ.สุราษฎ์ธานี, เกาะโหลน จ.ภูเก็ต, เกาะปอ เกาะฮั่ง จ.กระบี่ และเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล

ส่วนทางเลือกในการพัฒนาระบบไฟฟ้าไปยังเกาะต่างๆ ได้แก่ 1.ขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าจากแผ่นดินใหญ่ เพื่อจ่ายไฟให้กับเกาะด้วยการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าด้วยสายเคเบิ้ลใต้น้ำ (Submarine Cable) 2.จ่ายไฟให้เกาะแยกอิสระจากระบบไฟฟ้าบนแผ่นดินใหญ่ ด้วยโรงไฟฟ้าดีเซล และ3. จ่ายไฟให้เกาะแยกอิสระจากระบบไฟฟ้าบนแผ่นดินใหญ่ ด้วยโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Microgrid)

อย่างไรก็ตามที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับโครงการขยายเขตไฟฟ้าไปยังพื้นที่เกาะ เพื่อเป็นแนวทางให้การไฟฟ้าใช้ดำเนินการจัดทำข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้า ดังนี้

1.การพิจารณาโครงการลงทุนเพื่อให้บริการไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลบนเกาะ ควรดำเนินการตามหลักการ “เงินลงทุนในการดำเนินการต่ำสุด (Least cost method)” รวมทั้งให้การไฟฟ้าจัดทำแผนงานที่ชัดเจนและรับฟังความเห็นจากผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่อย่างรอบด้านต่อแนวทางในการพัฒนารูปแบบของโครงการและชี้แจงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

2.อัตราค่าไฟฟ้าบนเกาะ ควรสะท้อนต้นทุนของการไฟฟ้าในการวางแผนระบบผลิต การวางแผนขยายระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้า ตามหลักการของต้นทุนส่วนเพิ่มระยะยาว (Long-run Incremental Cost) หลักการต้นทุนส่วนเพิ่มระยะยาวเฉลี่ย หรือ หลักการต้นทุนหน่วยสุดท้ายระยะยาว

3.การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าบนเกาะใหม่ ซึ่งมีต้นทุนจากการลงทุนระบบผลิตในพื้นที่ หรือการก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้าผ่านเคเบิลใต้น้ำสูงกว่าการลงทุนปกติมาก ให้การไฟฟ้านำต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากเงินลงทุนปกติไปคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าพิเศษ (Surcharge) เพื่อเรียกเก็บค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ใช้ไฟฟ้าบนเกาะได้ โดยกำหนดเพดานราคาสูงสุดไว้ด้วย

4.การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าบนเกาะที่มีการจ่ายไฟฟ้าไปแล้ว ให้เรียกเก็บตามอัตราค่าไฟฟ้าปกติไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ที่สะท้อนต้นทุนในการวางแผนขยายระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าบนเกาะ

และ 5.การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยบนเกาะอาจแตกต่างจากผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ในกรณีที่ภาครัฐมีนโยบายยกเว้นการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าพิเศษ หรือกรณีภาครัฐพิจารณาจัดสรรงบประมาณในการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย

โดยหลังจากสำนักงาน กกพ. รับฟังความเห็นดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว จะนำเสนอต่อภาคนโยบายเพื่อพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อไป

Advertisment

- Advertisment -.