ไออาร์พีซี ทุ่ม 4,000 ล้านบาท ลงทุนผลิตดีเซลเกรดยูโร5   

1517
- Advertisment-

ไออาร์พีซี ทุ่มงบ 4,000 ล้านบาท ลงทุนโครงการผลิตน้ำมันยูโร5 จากงบลงทุนรวมในปี 2563 ราว 7,400 ล้านบาท โดยจะเริ่มจำหน่ายยูโร5 ในปี 2565 ด้วยกำลังการผลิต 400 ล้านลิตรต่อเดือน พร้อมมุ่งธุรกิจใหม่ใช้นวัตกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และกระแสผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม      

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2563 ไออาร์พีซีจะใช้งบลงทุนรวมประมาณ 7,400 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 4,000 ล้านบาท ใช้ดำเนินโครงการผลิตน้ำมันดีเซลเกรดยูโร5 (Ultra Clean Fuel : UCF) และอีก 2,500 ล้านบาท ใช้เพื่อซ่อมบำรุงประจำปี และอีก 900 ล้านบาท ใช้เพื่ออื่น ๆ โดยคาดว่าจะมีกำลังการผลิตน้ำมันยูโร5 ราว 400 ล้านลิตรต่อเดือน และพร้อมจำหน่ายได้ในปี 2565 จากปัจจุบันที่มีความต้องการใช้น้ำมันดีเซลทั้งหมดประมาณ 2,000 ล้านลิตรต่อเดือน ทำให้ไออาร์พีซีจะสามารถขายน้ำมันยูโร5 ในประเทศและส่งออกได้มากขึ้น และยังได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง เพื่อรองรับกระแสการใช้พลังงานสะอาดของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม และกัมพูชา ที่เริ่มใช้น้ำมันดีเซลคุณภาพสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ยังทำให้ได้รับผลตอบแทนการลงทุนไม่ต่ำกว่า 20% ภายในระยะเวลา 15-20 ปี นับจากการเริ่มลงทุนในปี 2563

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

ส่วนกลยุทธ์การทำธุรกิจของไออาร์พีซีนับจากนี้ไป (62-63) จะมุ่งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรม (Innovation) เพื่อมาตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้รับความพึงพอใจสูงสุดทั้งคุณภาพและบริการ รวมทั้งช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันเข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษได้มากขึ้น ทำให้บริษัทได้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและลดความผันผวนของราคาจากผลิตภัณฑ์กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์

- Advertisment -

โดยในส่วนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน อาทิ การผลิตน้ำมันเตากำมะถันต่ำมาตรฐาน IMO (องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ) ซึ่งกำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ 0.5% จากเดิม 3.5% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จะสร้างผลกำไรให้กับไออาร์พีซีได้ดี เนื่องจากตลาดเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลางมีความต้องการใช้น้ำมันดังกล่าวมากถึง 9.3 ล้านตันต่อเดือน จากปัจจุบันมีซัพพลายในตลาดเพียง 4.7 ล้านตันต่อเดือน ยังมีความต้องการใช้อีก 3 ล้านตันต่อเดือน ทำให้แนวโน้มราคาอยู่ในระดับสูง ซึ่งไออาร์พีซีเป็นโรงกลั่นเดียวในประเทศไทยที่มีหน่วยกำจัดกำมะถันออกจากน้ำมันเตา จึงมีความได้เปรียบทั้งด้านคุณภาพและต้นทุนการผลิต ปัจจุบันผลิตได้ 52,000 ตันต่อเดือน จากกำลังการผลิตรวม 60,000 ตันต่อเดือน สามารถป้อนน้ำมันมาตรฐาน IMO เข้าสู่ตลาดได้เป็นรายแรกและก่อนระยะเวลาที่มาตรฐานกำหนด วางเป้าหมายตลาดในประเทศ 65% และส่งออก 35%

ส่วนผลิตภัณฑ์ยางมะตอย ซึ่งไออาร์พีซีเป็นโรงกลั่นโรงแรกและโรงเดียวในประเทศไทยที่ใช้นวัตกรรมผลิตยางมะตอยเกรดพิเศษ 40:50 จากที่เคยใช้เกรด 60:40 มีกำลังการผลิต 3,000 ตันต่อเดือน จะนำร่องใช้ในการก่อสร้างพื้นผิวถนนพระราม 2 เพื่อแก้ปัญหาการยุบตัว ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี บริษัทได้ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภคและทิศทางธุรกิจที่เติบโต โดยเป็น Innovation product คือเม็ดพลาสติก พีพี คอมพาวด์ สำหรับผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เช่น รถยนต์ไฟฟ้ามาตรฐานญี่ปุ่น รถจักรยานยนต์ และอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะมีการเติบโตตามเศรษฐกิจโลกและสังคมเมือง และยังตอบโจทย์การเป็น Urbanization

รวมทั้งการต่อยอดเม็ดพลาสติก พีพี คอมพาวด์ มาขึ้นรูปเป็นทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ ที่มีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อม มีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 25 ปี จะนำร่องใช้งานในโรงงานไออาร์พีซี ขนาด 12.5 เมกะวัตต์ คาดติดตั้งแล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2563 นับเป็นทุ่นโซลาร์ลอยน้ำใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ยังพัฒนาความร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจก๊าซฯ ปตท. พัฒนาพื้นที่บ่อน้ำที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการติดตั้งทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ และขยายผลสู่โรงงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้พลังงานสะอาดในภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ไออาร์พีซีพร้อมร่วมเสนอการผลิตทุ่นโซลาร์ลอยน้ำในการประมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เนื่องจากมีกำลังการผลิตที่จะรองรับได้ นอกจากเป็นการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ ลดการนำเข้าแล้ว ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

นอกจากนี้ ยังขยายผลการใช้เม็ดพลาสติกเอชดีพีอี (HDPE pipe grade) โดยประสานความร่วมมือกับการประปานครหลวง (กปน.) ใช้ท่อประปาจากพลาสติกเอชดีพีอีแทนท่อประปาทั่วไป เพราะมีประสิทธิภาพทนทานต่อสารคลอรีนมากกว่า และมีอายุการใช้งานมากกว่า 60 ปี เป็นต้น

ขณะที่ เม็ดพลาสติกชนิด UHMW-PE โดยโรงงานของไออาร์พีซีเป็นรายเดียวในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผลิตได้ ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 12,000 ตันต่อปี หรือประมาณ 6% ของกำลังการผลิตของทั้งโลก และในปี 2565 มีแผนจะขยายกำลังผลิตเป็น 16,000 ตันต่อปี จากปี 2562 ผลิตได้ 7,500 ตัน ซึ่งเม็ดพลาสติกดังกล่าวเป็นโพลิเมอร์ที่มีคุณภาพสูง ทนทานต่อการสึกหรอ แรงกระแทกและการเสียดสีที่สูงมาก ผิวสัมผัสเรียบลื่นทำให้มีแรงเสียดทานน้อย สามารถนำไปผลิตสินค้าได้หลายประเภท ทดแทนเหล็กและโลหะได้ เช่น เฟืองเครื่องจักร เสื้อเกราะกันกระสุน หุ่นยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง

อีกผลิตภัณฑ์ที่น่าจะขยายผลได้ในอนาคต ก็คือ R-Maxx L-Cement ซึ่งเป็นการนำยางพารา 30% มาผสมกับซีเมนต์ 70% ทำให้มีน้ำหนักเบากว่าซีเมนต์ 20-30% แต่มีความแข็งแรง สามารถขึ้นรูปงานที่มีความซับซ้อนได้ โดยเฉพาะการรองรับงานก่อสร้างเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi)  ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ซึ่งกำหนดให้ใช้ Bio Grade ในการก่อสร้างในพื้นที่ ซึ่งสะท้อนการใช้ Green product ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“เราไม่รู้ว่าสถานการณ์สงครามการค้าจะจบลงเมื่อไหร่ หากยืดเยื้อ เราก็ต้องเตรียมพร้อมโดยการพัฒนาโปรดักซ์ที่มีคุณภาพสูง รายได้ต่อหน่วยดีขึ้น และทิศทางของโลกที่ให้ความสนใจสินค้าที่เป็นกรีนโปรดักซ์มากขึ้น เป็นไบโอเบสมากขึ้น เป็น Renewable มากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็น Green Product ที่เป็น Food Grade โดยจะขยายผลไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาธุรกิจกับแบรนด์อาหารข้ามชาติในการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมองว่าเป็นสินค้าที่มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศให้การยอมรับค่อนข้างมาก” นายนพดล กล่าว

นายนพดล ยังกล่าวถึงแนวโน้มราคาน้ำมันในปีหน้า (2563) โดยกลุ่ม ปตท. คาดว่าน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ระดับประมาณ 65 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เนื่องจากขณะนี้มีซัพพลาย หรือปริมาณน้ำมันดิบเชลล์ออยล์ของสหรัฐฯ เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับการที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกโอเปกยังคงร่วมมือรักษาระดับการผลิตน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันอาจปรับตัวสูงขึ้นได้จากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่จะเป็นปัจจัยกดดันตลาด

Advertisment