ไทย-สปป.ลาว ยังเดินหน้าตามข้อตกลงเอ็มโอยู ซื้อไฟ 9,000 เมกะวัตต์

2162
- Advertisment-

ไทย-สปป.ลาว ยังเดินหน้าตามข้อตกลงเอ็มโอยู ซื้อไฟ  9,000 เมกะวัตต์

ไฟฟ้า ถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ที่สร้างรายได้หลักสำคัญให้กับ สปป.ลาว ทำให้ลาวยัง มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ สู่เป้าหมาย การเป็น แบตเตอรี่ของเอเชีย  โดยมีไทยเป็นตลาดผู้รับซื้อไฟฟ้ารายใหญ่  โดยถึงแม้จะมีเหตุการณ์ เขื่อน เซเปียน-เซน้ำน้อย แตก ส่งผลให้ปริมาณน้ำ กว่า 5 พันล้านลูกบาศก์เมตรไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่หลายหมู่บ้านที่อยู่ในแขวงอัตตะปือและแขวงจำปาสัก ทำให้มีผู้เสียชีวิต  สูญหาย และไร้ที่อยู่อาศัย จำนวนมาก  แต่ทั้งสปป.ลาว และรัฐบาลไทย ยังคงยืนยันเดินหน้ากรอบความร่วมมือตามเอ็มโอยูที่ตกลงกันไว้

ปัจจุบันไทยและสปป.ลาว มีการทำ ข้อตกลงเอ็มโอยู ที่ไทย จะซื้อขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จำนวน  9,000 เมกะวัตต์  โดยมีสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า(PPA)ระหว่างกันรวมแล้ว  5,832 เมกะวัตต์  แต่โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ มายังประเทศไทย มีจำนวน 6 โครงการ รวมกำลังการผลิต 3,989 เมกะวัตต์  ได้แก่

- Advertisment -

1.โครงการเทิน-หินบุน จำนวน 220 เมกะวัตต์ เข้าระบบเดือนมี.ค. 2541

2.โครงการห้วยเฮาะ จำนวน 126 เมกะวัตต์ เข้าระบบเดือนก.ย. 2542

3.โครงการน้ำเทิน2  จำนวน 948 เมกะวัตต์ เข้าระบบเดือน เม.ย. 2553

4.โครงการน้ำงึม2 จำนวน 597 เมกะวัตต์ เข้าระบบเดือนมี.ค. 2554

5.โครงการเทิน-หินบุนส่วนขยาย จำนวน 220 เมกะวัตต์ เข้าระบบเดือน ธ.ค. 2555

6.โครงการหงสาลิกไนต์  ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์  3 ยูนิต รวมจำนวน 1,878 เมกะวัตต์ เข้าระบบล่าสุดเดือนมี.ค. 2559

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและจะผลิตไฟฟ้าขายให้ไทยในปี 2562 อีก 3 โครงการ รวมปริมาณไฟฟ้า 1,843 เมกะวัตต์ ได้แก่

1.โครงการไซยบุรี จำนวน 1,220 เมกะวัตต์

2.โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย 354 เมกะวัตต์

3.โครงการน้ำเงี้ยบ1 จำนวน 269 เมกะวัตต์

และในปี 2565 จะมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำโครงการน้ำเทิน 1 เข้าระบบอีก 520 เมกะวัตต์ ซึ่งหากโครงการดังกล่าวทั้งหมดเข้าระบบแล้ว จะทำให้ไทยรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาวรวม 6,352 เมกะวัตต์ จากกรอบความร่วมมือ 9,000 เมกะวัตต์

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า  ยังมีอีกหลายโครงการที่ สปป.ลาวได้เสนอขายไฟฟ้าให้กับ ไทย แต่รัฐบาลไทยต้องพิจารณาความเหมาะสมก่อนจะตกลงกัน  ซึ่งต้องให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว(PDP2018) ที่กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้เป็นหลัก

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แม้ว่า โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย จะมีปัญหา ที่ภาครัฐอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทย ยืนยันแล้วว่า จะไม่กระทบต่อความมั่นคงไฟฟ้าของฝั่งไทย เพราะยังมีปริมาณสำรองไฟฟ้าอยู่เพียงพอ

สำหรับกรอบข้อตกลงตามเอ็มโอยู 9,000 เมกะวัตต์  ซึ่งยังเหลือไฟฟ้าที่ไทย จะต้องซื้อเข้าระบบ อีกเกือบ 3,000 เมกะวัตต์ นั้น มีโครงการที่ยังมีศักยภาพ  ที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น โครงการปากเบ่ง กำลังการผลิต798 เมกะวัตต์  ส่วนโครงการที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ได้มีการเจรจากับฝ่ายไทย มีอีกจำนวนกว่า  1,905 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการ เซกอง4  กำลังการผลิต240 เมกะวัตต์  โครงการเซกอง5 กำลังการผลิต330 เมกะวัตต์ โครงการ  น้ำกง1 กำลังการผลิต 75 เมกะวัตต์  และโครงการเซนาคาม กำลังการผลิต660 เมกะวัตต์  รวมทั้งโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ที่เอกชนไทยเข้าไปเป็นผู้พัฒนาโครงการอีก 600 เมกะวัตต์   ซึ่งต้องติดตามว่าหลังแผนPDP2018 จัดทำแล้วเสร็จ short list  ของโครงการใหม่จะเป็นอย่างไร

Advertisment