ได้เวลาเจรจาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ไทย-​กัมพูชา หรือยัง ?

902
- Advertisment-

ในสถานการณ์พลังงานราคาแพงทั้งไฟฟ้า และ น้ำมัน ที่ต้นเหตุสำคัญมาจากราคาพลังงานโลกที่ขยับขึ้นสูง และเป็นปัจจัยที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานที่กำกับดูแลนโยบายไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องมาจากไทยเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ เพราะเราผลิตได้เองไม่พอใช้ จึงเริ่มกลายเป็นกระแสเรียกร้องให้มีการเร่งสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ​เพิ่มเติม โดยเฉพาะแหล่งปิโตรเลียมที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาที่ถือเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ( Exclusive Economic Zones )

โดยที่มีปรากฏในหน้าสื่อ อาทิ นายพิชัย นริพทะพันธ์ุ อดีตรัฐมนตรีพลังงานจากพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาบอกให้รัฐบาลไทยเร่งเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อขุดหาก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนที่เชื่อว่ามีปริมาณมาก ขึ้นมาใช้ เพราะจะทำให้ประเทศมีรายได้จากค่าภาคหลวงเพิ่มขึ้นและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยถ้าไม่รีบใช้ในตอนนี้ หากในอนาคตที่โลกเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทดแทนอื่น เช่น ลม แสงอาทิตย์ ทั้งก๊าซและน้ำมันอาจไม่มีใครใช้กันแล้ว เพราะกระแสรณรงค์เรื่องลดโลกร้อน-คาร์บอนเครดิต

สอดคล้องกับ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ นักวิชาการ ที่เขียนบทความพิเศษ​ลงกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 30 ส.ค.65 เสนอให้รัฐบาลไทยเจรจากับกัมพูชา ตั้งองค์กรร่วมไทย-กัมพูชา เพื่อเริ่มต้นสำรวจแหล่งก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เช่นเดียวกับกรณีที่ไทยกับมาเลเซียเคยดำเนินการร่วมกันจนประสบผลสำเร็จ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศและแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานราคาแพงในระยะยาวจากการที่ไทยต้องพึ่งพาพลังงานนำเข้าจากต่างประเทศ

- Advertisment -

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.)​ ที่มีบทบาทกำกับดูแลเรื่องค่าไฟฟ้า ก็เสนอให้มีการเจรจาเรื่องแหล่งก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย กัมพูชา ให้ฝ่ายนโยบายเร่งดำเนินการให้มีความชัดเจน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงได้ เพราะในแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติของประเทศ หรือ Gas Plan ​2018​ ที่มองไปถึงปี 2580 ว่า ไทยจะต้องพึ่งพาLNGนำเข้าเกือบทั้งหมด หากไม่มีการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆในประเทศเพิ่มเติม

เช่นเดียวกับเวทีสถาบันวิทยาการพลังงาน หรือ วพน.รุ่นที่ 18 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เชิญ วุฒิ​กร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. ไปบรรยาย ก็มีการหยิบยกเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย กัมพูชา ให้เห็นความจำเป็นของการเร่งรัดพัฒนา เพื่อให้ประเทศมีแหล่งพลังงานใช้ในอนาคต

อย่างไรก็ตามทางฝ่ายนโยบายทั้งนายกรัฐมนตรี ​พลเอกประยุทธ์​ จันทร์โอชา และ สุพัฒนพงษ์​ พันธ์​มีเชาว์ รองนายก​รัฐมนตรี​ และรัฐมนตรีพลังงาน ก็มองเห็นถึงความสำคัญและจำเป็นของเรื่องนี้ที่จะต้องมีการหาแหล่งพลังงานใหม่เพิ่มเติม เพียงแต่ว่า ในกระบวนการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวงทั้งกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ​ กระทรวงพลังงาน ยังไม่มีความคืบหน้าการดำเนินการเปิดเผยสู่สาธารณะให้ ประชาชนผู้ใช้พลังงานราคาแพง ได้มีความหวัง และประเทศมีทางออกเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว

จึงต้องคอยติดตามอัพเดทกันต่อไป

เครดิตภาพประกอบ จากเว็บไซต์​กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ​

Advertisment