ใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าสร้างความตระหนักรู้ นำร่องติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟให้ 8 โรงพยาบาลชุมชน

1210
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและภาคีเครือข่าย นำร่องส่งมอบการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับ 8 โรงพยาบาลชุมชน ในพื้นที่ 8 จังหวัด กำลังการผลิตโรงพยาบาลละ 100 กิโลวัตต์ ประกอบด้วย โรงพยาบาลไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี โรงพยาบาลบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ โรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โรงพยาบาลขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โรงพยาบาลย่านตาขาว จังหวัดตรัง โรงพยาบาลหลังสวน จังหวัดชุมพร โรงพยาบาลบ้านบึง จังหวัดชลบุรี และโรงพยาบาลปลวกแดง จังหวัดระยอง  โดยใช้เงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (5)  ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 สร้างความตระหนักรู้เรื่องพลังงานสะอาดให้กับประชาชน และร่วมบริจาคไปยังบัญชีโดยตรงของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ซึ่งมีเป้าหมายจะดำเนินการทั้งหมด 77 โรงพยาบาล 77 จังหวัดทั่วประเทศ

การนำร่องส่งมอบการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับ 8 โรงพยาบาลชุมชน อยู่ภายใต้กิจกรรม“101 วัน จากแสงแรกสู่โรงพยาบาลไฟจากฟ้า” ในแคมเปญ “Clean Energy for Life : ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” ที่จัดขึ้นวันนี้ ( 4 มี.ค.2564) โดย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์”  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข “อนุทิน ชาญวีรกุล” พร้อมด้วย ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) “เสมอใจ ศุขสุเมฆ” ร่วมด้วย นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ กรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท และตัวแทนจาก 8 โรงพยาบาล รวมในพิธี ณ โรงพยาบาลไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี 

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังผลิต 100 กิโลวัตต์ ที่ติดตั้งให้กับโรงพยาบาล จะสามารถช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลได้ถึงเดือนละประมาณ 60,000 บาท ดังนั้นในระยะเวลา 1 ปี โรงพยาบาลจะสามารถลดภาระค่าไฟฟ้าได้ราว 720,000 บาท โดยแผงโซลาร์เซลล์จะมีอายุการใช้งานประมาณ 25 ปี จึงสามารถช่วยโรงพยาบาลลดภาระค่าไฟฟ้าได้ถึงประมาณ 18 ล้านบาท  ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายจะดำเนินการทั้งหมด 77 โรงพยาบาล 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการขยายไปพื้นที่อื่นๆ เช่น ชุมชน และ โรงเรียน ในพื้นที่ห่างไกลด้วย

- Advertisment -
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ก็ได้กำหนดเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้ได้ร้อยละ 37 ภายในปี พ.ศ. 2580 โดยจะสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงพลังงานสะอาด ช่วยลดมลพิษทางอากาศ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนให้กับประเทศ

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในแต่ละปีโรงพยาบาลมีภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าจำนวนมาก ซึ่งโครงการความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาล และสามารถนำงบประมาณรายจ่ายค่าไฟฟ้าที่เหลือจ่ายจากการจ่ายค่าไฟฟ้าน้อยลงไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น การซื้ออุปกรณ์การแพทย์ จัดหาเวชภัณฑ์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ และสนับสนุนระบบสาธารณสุขของประเทศให้มีความพร้อมทั้งต่อสถานการณ์โควิด-19 และการบริการทั่วไปให้กับประชาชน ให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC ) รายงานว่า แคมเปญ “Clean Energy for Life : ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (5)  ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 มาสร้างความตระหนักรู้เรื่องพลังงานสะอาดให้กับประชาชน โดยประชาชนที่ได้รับข้อมูลการสื่อสารผ่าแคมเปญดังกล่าว มีความรู้ความเข้าใจ และเห็นคุณค่าของพลังงานสะอาด จะร่วมบริจาคเงินแบบระบุเจาะจงไปยังบัญชีโรงพยาบาลตามรายชื่อที่ระบุไว้ ทั้ง77 แห่ง ซึ่งเงินที่บริจาคดังกล่าวสามารถที่จะนำไปหักลดภาษีส่วนบุคคลได้2 เท่าของเงินบริจาค

สำหรับการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาด 100 กิโลวัตต์ในโรงพยาบาลชุมชนแต่ละแห่งจะใช้ต้นทุนติดตั้งประมาณ แห่งละ 3 ล้านบาท ระยะเวลาคืนทุน 4ปี มีอายุการใช้งานของระบบประมาณ 25 ปี

Advertisment