โรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อชุมชนจริงหรือ?

6505
- Advertisment-

โรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อชุมชนจริงหรือ?

ตั้งเป็นประเด็นคำถามเอาไว้ เพื่อจะได้มีการตรวจสอบว่า เมื่อกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดทำหลักเกณฑ์และรายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก แล้วเสร็จตามกรอบนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมานั้น จะมีสักกี่ชุมชนที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว และจะได้รับประโยชน์จริงหรือไม่  มากน้อยแค่ไหน

โดยรายละเอียดหลักเกณฑ์การจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน จะต้องสอดคล้องกับหลักการทั้ง6ข้อที่ กพช.เห็นชอบ คือ 1.ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิต ใช้ และจำหน่ายไฟฟ้า อย่างยั่งยืน  2.ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า 3.ส่งเสริมโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ตามศักยภาพเชื้อเพลิง และสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ 4.สร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าในพื้นที่ ลดภาระการลงทุนของภาครัฐในการสร้างระบบส่ง และระบบจำหน่ายไฟฟ้า 5.ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีรายได้ โดยชุมชนได้รับผลตอบแทนจากการจำหน่ายเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนจากวัสดุทางการเกษตรและ การจำหน่ายไฟฟ้า และ6. สร้างการยอมรับของชุมชนในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าของประเทศ

- Advertisment -

ที่สำคัญคือ เมื่อมีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเกิดขึ้นในพื้นที่ แล้ว ชุมชนจะต้องมีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าชุมชน และลดภาระค่าใช้จ่ายของชุมชน   และชุมชนต้องมีรายได้จากการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า  ต้องเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน  ต้องเกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน และ ชุมชนสามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ สร้างมูลค่าเพิ่มในการประกอบอาชีพของชุมชน เช่น ห้องเย็น เครื่องจักรแปรรูปการเกษตร

คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน กำหนดประชุมในวันที่ 4 ธ.ค. 2562 นี้ ซึ่งหนึ่งในวาระสำคัญที่จะนำเข้าสู่การพิจารณา คือเรื่องรายละเอียดของโมเดลการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่  ทาง พพ. จะเป็นผู้นำเสนอ โดยประเด็นที่น่าสนใจคือ จะมีการนำเสนอโมเดลการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนในกี่รูปแบบ  ตัวเลขอัตราค่าไฟฟ้าที่รัฐจะรับซื้อจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จะอยู่ที่เท่าไหร่  และ ชุมชนจะได้รับผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมในเชิงรายได้ ทั้งจากการถือหุ้นในโรงไฟฟ้า การขายวัสดุทางการเกษตรเพื่อเป็นเชื้อเพลิง หรือการสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ๆ อย่างไร   ในขณะเดียวกันฝั่งประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ก็อยากจะรู้ว่า ราคาไฟฟ้าที่รับซื้อที่รัฐส่งเสริมตามโครงการ นั้น จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในรูปของค่าเอฟที มากน้อยแค่ไหน และเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่

ก่อนหน้านี้ มีการออกข่าวจากฝั่งทีมงานประชาสัมพันธ์ของนายสนธิรัตน์ ว่ากรอบตัวเลขปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าตามนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน ว่าจะมีมากถึง 1,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 1แสนล้านบาท โดยโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจะทะยอยจ่ายไฟเข้าสู่ระบบภายในปี2565  พร้อมกันนี้ยังมีข่าวจากบริษัทด้านพลังงาน ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลายบริษัท ที่ต่างแสดงความพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน  ในขณะเดียวกัน ก็มีกระแสข่าวด้วยว่า มีการเข้าไปจับจองพื้นที่ตามแนวสายส่ง ขนาด 22เควี และ 115 เควี ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กันแล้ว เพราะหนึ่งในเงื่อนไขการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน คือจะต้องอยู่ที่จุดที่มีระบบสายส่งไฟฟ้ารองรับ  จนมีการตั้งข้อสังเกตของคนในแวดวงพลังงานว่า การเกิดขึ้นของนโยบาย โรงไฟฟ้าชุมชนนั้น แท้จริงแล้ว เพื่อประโยชน์ของบริษัทเอกชน หรือ ประโยชน์ของคนในชุมชนกันแน่

โดยมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจจากผู้นำชุมชนว่า นโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนในชุมชนอย่างแท้จริงนั้น ควรจะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดจิ๋ว ไม่เกิน 100 กิโลวัตต์ ซึ่งใช้วัสดุทางการเกษตรเหลือใช้ หรือที่ปลูกขึ้นใหม่ ที่ชุมชนสามารถที่จะรวมกลุ่มกันในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนเพื่อลงทุนได้ด้วยตัวเอง เน้นผลิตใช้เองในชุมชน และขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือเข้าระบบได้ในอัตราค่าไฟฟ้าที่รัฐส่งเสริม ซึ่งแนวทางดังกล่าวสามารถตอบโจทย์หลักการและเหตุผลของกระทรวงพลังงานที่ กพช.ให้ความเห็นชอบไปแล้ว ทั้งในเรื่องที่ชุมชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าเอง และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง และรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับรัฐ อีกทั้งยังเป็นแนวทางให้รัฐสามารถกระจายโครงการไปยังชุมชนต่างๆทั่วประเทศให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้โมเดลโรงไฟฟ้าชุมชน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่น้อมนำเอาศาสตร์พระราชา และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ว่าด้วยเรื่องของ โคก หนอง นา มาผสมผสานเข้ากับโรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีเป้าหมายให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืนใน3 เรื่องหลัก คือ อาหาร  น้ำ และพลังงาน  ยังเป็นอีกโมเดลที่น่าสนใจควรนำไปต่อยอดในหลายพื้นที่ หลังจากที่กฟผ. จะดำเนินเป็นโครงการนำร่องในพื้นที่ “เขื่อน 7 พระนาม 3 โรงไฟฟ้า”ของกฟผ. ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรก, เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์, เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี, เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี, เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น, เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ, โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง,โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา

โมเดลโรงไฟฟ้าชุมชน ของกฟผ. ที่นำศาสตร์พระราชา มาประยุกต์ใช้

โดยในแนวทาง “โคก หนอง นา”นั้นเป็นการเปลี่ยนการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรให้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ และสังคม (วัฒนธรรม ท้องถิ่น) โดยแบ่งพื้นที่ เป็นสัดส่วน 30 : 30 : 30 : 10 ดังนี้ 30% สำหรับ เป็นแหล่งน้ำ โดยการขุดบ่อทำหนองน้ำและคลองไส้ไก่ เพื่อให้มีแหล่งน้ำไว้ใช้ในยามจำเป็น อีก 30% สำหรับ ทำนา ปลูกข้าว เป็นแหล่งอาหารเลี้ยงตัวเอง อีก 30% สำหรับ ทำโคกหรือป่า โดยเป็นการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ปลูกไม้ใช้สอย ไม้กินได้และไม้เศรษฐกิจ เพื่อให้ได้ประโยชน์ คือ 1. พอกิน คือ มีผัก มีอาหารไว้กิน 2. พออยู่ คือ สามารถตัดไม้ไปสร้างบ้าน ทำที่อยู่ได้ 3. พอใช้ คือ มีไว้ใช้สอยในครัวเรือน ใช้เป็นยาและสมุนไพร ใช้เป็นฟืน เป็นเครื่องมือใช้สอยในบ้าน 4. พอร่มเย็น มีความอุดมสมบูรณ์ และความร่มเย็น และพื้นที่อีก10% แบ่งไว้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย

ต้องยอมรับว่านโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของนายสนธิรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนั้น อยู่ในความสนใจและได้รับการตอบรับทั้งจากคนในวงการพลังงานและชุมชน ว่าเป็นอีกหนึ่งความหวังในการเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน ลดรายจ่ายด้านพลังงานและเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านได้ ดังนั้นเรื่องของการกำหนดหลักเกณฑ์รายละเอียด ที่อยู่ในมือของ พพ. ซึ่งเป็นเหมือนคู่มือที่จะผลักดันนโยบายลงไปสู่ภาคปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม จึงมีความสำคัญที่จะชี้ว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ใครกันแน่ที่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ จากนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน

Advertisment