เขียนเล่าข่าว​ EP.40 แก๊สโซฮอล์แพงกว่า​ดีเซล​เกิน​ 10​ ​บาทต่อลิตร​ ทั้งๆ ที่ราคาหน้าโรงกลั่นถูกกว่า​ ​ผลจากนโยบายรัฐบาล

291
N4037
- Advertisment-

มติ​คณะรัฐมนตรี​เมื่อวันที่​ 13​ กันยายน​ 2566​ ที่ให้ปรับลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลงจาก​ 5.99 บาทเหลือ​ 3.67 บาทต่อลิตร​ มีผลให้ราคาขายปลีกดีเซลที่หน้าปั๊มปรับลดลง​ จาก​ 31.94​ บาทต่อลิตรเหลือ​ 29.94​ บาทต่อลิตร​ตั้งแต่วันที่​ 20​ กันยายน​ 2566​ เป็นต้นไป​ โดยราคาดีเซลที่ปรับลดลงทันที​ 2​ บาทต่อลิตร​ ยิ่งทำให้ผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์​ ​ที่รถยนต์บ้านและรถมอเตอร์ไซค์ใช้กันมากนั้น​ รับรู้ถึงความไม่เป็นธรรมในเชิงนโยบาย​ เพราะราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์​ 91​ อยู่ที่ลิตรละ​ 40.18 บาทต่อลิตร​ แก๊สโซฮอล์ ​95​ อยู่ที่​ 40.45 บาทต่อลิตร​ แพงกว่าดีเซล​ เกินกว่า​ 10​ บาทต่อลิตร​ ทั้งๆที่เมื่อไปดูราคาแก๊สโซฮอล์ที่หน้าโรงกลั่นในวันเดียวกัน​ อยู่ที่​ประมาณ​ 25.6 บา​ทต่อลิตร​ ส่วนดีเซล​ อยู่ที่​ 28.4 บาทต่อลิตร​หรือถูกกว่ากันเกือบ​ 3​ บาทต่อลิตร

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาแก๊สโซฮอล์และดีเซลมีราคาที่แตกต่างกันมากนั้น มาจาก​การจัดเก็บภาษีสรรพสามิต​ โดยแก๊สโซฮอล์​อี10​ ทั้ง​ 91​และ 95​ นั้น ถูกเก็บภาษีอยู่ที่​ 5.85 บาทต่อลิตร​ ในขณะที่ภาษีสรรพสามิตดีเซลที่ปรับใหม่อยู่ที่​ 3.67​ บาทต่อลิตร​

นอกจากนี้ในการนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง​ กลุ่มแก๊สโซฮอล์​ เก็บอยู่ที่อัตรา​ 2.80 บาทต่อลิตร​ ในขณะที่ดีเซล​ กองทุนน้ำมัน​ต้องควักเงินมาชดเชยถึงลิตรละ​ 7.17 บาทต่อลิตร​ เพื่อให้ราคาขายปลีกดีเซลเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล

- Advertisment -

นโยบายการดูแลราคาดีเซลของรัฐบาลตั้งแต่​ชุดพลเอกประยุทธ์​ มาถึงรัฐบาลเศรษฐา​ ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง​ อัพเดตจนถึงวันที่​ 17​ กันยายน​ 2566​ ยังมีภาระหนี้อยู่ประมาณ​ 103,051 ล้านบาท​ โดยมีสินทรัพย์รวม​41,410 ล้านบาท​ ส่งผลให้กองทุนยังมีฐานะที่ติดลบ​ ที่​ 61,641 ล้านบาท

โครงสร้าง​ราคา​น้ำมัน​ ณ​ วันที่​ ​20​ ​ก.ย.​ 2566
ฐานะกองทุน​น้ำมัน​เชื้อเพลิง​ ณ​ วันที่​ 17​ ก.ย.​ 2566​

รัฐบาลเศรษฐา​ ให้เหตุผลถึงนโยบายการดูแลราคาน้ำมันดีเซล​ เพราะมุ่งหวังที่จะลดต้นทุนค่าขนส่งให้กับผู้ประกอบการ​ และลดค่าครองชีพให้กับประชาชน​ ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการนั้น​ ได้ประโยชน์จากราคาดีเซลที่ลดลงอย่างมาก​ จากปีที่แล้ว​ที่ราคาขยับขึ้นไปอยู่ที่​ 34.94​ บาทต่อลิตร​ ส่วนในแง่ค่าครองชีพของประชาชนยังไม่สะท้อนให้เห็นผล​ เพราะทั้งราคาสินค้า​ อาหาร​ ค่าโดยสาร​ ยังไม่ได้ปรับลดลงตามต้นทุนดีเซลที่ลดลง

สำหรับผู้ใช้น้ำมันในกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์​ นั้น​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน​ นายพีระพันธุ์​ สาลี​รัฐ​วิภาค​ รับนโยบายจากนายเศรษฐา​ ทวีสิน​ นายกรัฐมนตรี​ แล้วที่จะไปหาแนวทางการช่วยเหลือ​ แต่จะช่วยได้เฉพาะกลุ่มผู้ใช้ที่มีความเปราะบาง​ โดยในช่วงของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์​ รัฐบาลเคยมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน​ กระทรวงพลังงาน​ ไปดำเนินโครงการวินเซฟ​ ช่วยลดภาระให้กลุ่มมอเตอร์​ไชค์​รับจ้างในช่วงระยะเวลาสั้นๆ​

ที่ผ่านมาการดูแลราคาดีเซล​ ถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลแทบทุกชุดถือปฏิบัติมาตลอด​ โดยในมิติทางการเมืองมีด้านดีคือ การที่รัฐบาลได้รับคะแนนนิยมจากประชาชน​ แต่ในด้านลบ​ คือ ผลพวงจากการตรึงราคาดีเซลเอาไว้ในระดับที่ต่ำอย่างต่อเนื่องยาวนาน​นั้นทำให้โครงสร้างการใช้น้ำมันถูกบิดเบือน​ โดยมีรถยนต์นั่งส่วนบุคคล​ที่ไม่เกี่ยวกับการบรรทุกสินค้า​ หลายยี่ห้อ​ ผลิตรุ่นที่เติมน้ำมันดีเซล​ออกมาตอบสนอง​ความต้องการ​ของ​ผู้ใช้มากขึ้น​ และทำให้ยอดการใช้ดีเซลต่อวันสูงกว่า​ 70​ ล้านลิตร​

โดยโครงสร้างการใช้น้ำมันดีเซลที่บิดเบือนไป​ จนทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม​ จึงเป็นประเด็นที่รัฐควรต้องชี้แจง

Advertisment