อุปสรรคการส่งเสริมดีเซลB10 ที่ “สนธิรัตน์” ไม่ต้องการ

1275
- Advertisment-

นขณะที่กระทรวงพลังงานยุคที่มี รัฐมนตรีชื่อ “สนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์“ กำลังเดินหน้าโปรโมทให้คนหันมาใช้ น้ำมันดีเซลB10 (น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์หรือB100 ในสัดส่วน 10% ในทุกลิตร)กันขนานใหญ่ เป็นการโหมโรงก่อนที่กรมธุรกิจพลังงาน จะประกาศให้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป  โดยตั้งความหวังว่าคนที่เคยใช้ดีเซล B7 จะเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ B10 กันมากถึง 57 ล้านลิตรต่อวัน หรือช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบได้มากถึง2ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของประเทศ ประมาณ 2.2 ล้านตันต่อปี  แต่ในอีกด้านหนึ่งก็พบว่ายังมีอุปสรรคอีกประการที่สกัดกั้นไม่ให้การขับเคลื่อนB10 บรรลุเป้าหมายการไปช่วยยกระดับราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันให้กับเกษตรกรชาวสวนปาล์มได้  ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่ใช่สิ่งที่ “สนธิรัตน์” เจ้าของสโลแกน “Energy for All “ หรือพลังงานเพื่อทุกคน พึงปรารถนา

เมื่อย้อนไปดูนโยบายการโปรโมทน้ำมันดีเซล B20 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนก่อนหน้า คือ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ก็พบว่าเคยจัดแคมเปญโปรโมทให้คนหันมาใช้ ดีเซลB20 ในลักษณะเดียวกันกับB10มาแล้ว โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วยอุดหนุนราคา ให้ B20 มีราคาที่ถูกกว่า B7 ถึง 5บาทต่อลิตร และตั้งเป้าเอาไว้สูงว่า คนจะหันมาใช้กันมากถึง 15ล้านลิตรต่อวัน แต่นับจากที่มีการเริ่มนโยบายเมื่อปี2561จนถึงปัจจุบัน ก็ปรากฏว่า B20 ทำยอดขายได้แค่ประมาณ 4ล้านลิตรต่อวัน (ข้อมูลเดือนพ.ค. 2562) เพราะ จำนวนปั๊มที่ขายB20 ได้นั้น มีจำกัดและรถบรรทุกส่วนใหญ่ต้องการเครื่องยนต์ที่มีกำลังแรงในการขนส่ง จึงไม่ได้รับความนิยม

ถึงแม้ว่าทั้งนโยบายการส่งเสริมการใช้ทั้งB20 ที่เกิดมาก่อนหน้า และ B10 ที่เกิดตามหลังมา จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในแง่ที่มีทางเลือกในการใช้มากขึ้น รวมทั้งประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ที่มีโอกาสจะได้ราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ดีขึ้น จากเครื่องมือที่รัฐ นำมาช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มที่ล้นตลาด  แต่อีกด้านหนึ่งนโยบายของภาครัฐดังกล่าว ก็สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้กับบรรดาโรงกลั่นน้ำมัน และผู้ค้ามาตรา7 ที่ต้องมารับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการเพราะยิ่งน้ำมันดีเซล ถูกแบ่งให้มีหลายประเภทมากขึ้น  คนที่ออกมาขานรับนโยบาย ก็ต้องลงทุนเพิ่มถังเก็บและเพิ่มตู้หัวจ่าย โดยที่ต้องไปลุ้นต่อว่า เมื่อเพิ่มตู้หัวจ่ายมาแล้วจะมีคนมาเติมน้ำมันในแต่ละประเภทมากน้อยแค่ไหน เพราะรัฐไม่ได้ประกาศเป็นมาตรการบังคับ   นอกจากนี้ รัฐยังส่งสัญญาณล่วงหน้าบอกด้วยว่า ในอนาคตมีแนวคิดที่จะลดประเภทน้ำมันลงทั้งกลุ่มดีเซลและเบนซิน  ซึ่งก็หมายความว่า สิ่งที่ลงทุนเผื่อไปแล้ว จะต้องเปลี่ยนกลับมาเป็นแบบเดิมอีก ดูวุ่นกันไปอีกแบบ

- Advertisment -

ข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงาน คาดการณ์ยอดใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลสิ้นปี 2562 นี้จะทะลุ 71.68 ล้านลิตรต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะเพิ่มขึ้นถึง 7.6% จากปี 2561 ที่มียอดใช้อยู่ 66.43 ล้านลิตต่อวัน นั่นหมายความว่าความนิยมในน้ำมันดีเซลB7 ยังคงมีอยู่สูง ในขณะที่น้องใหม่อย่างB10 ที่เริ่มขายมาตั้งแต่วันที่ 1ต.ค.2562 ยอดจำหน่ายแค่ 1.1-1.3 หมื่นลิตรต่อวัน เพราะมีปั๊มจำหน่ายอยู่เพียง 47 แห่ง ดังนั้นการจะไปให้ถึงเป้าหมาย 57 ล้านลิตรต่อวัน ตามที่นายสนธิรัตน์ ตั้งเอาไว้ คงจะต้องออกแรงเข็นกันอีกเยอะ โดยเฉพาะ ปั๊มของ โออาร์ ที่จะต้องเดินหน้าเป็นหัวหอกให้กับนโยบายนี้

ตู้หัวจ่ายที่มีน้ำมันหลายชนิด กลายเป็นต้นทุนของบริษัทผู้ค้าน้ำมัน

ซึ่งเบื้องต้น บริษัทปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) หรือ โออาร์ วางแผนที่จะขยายปั๊มที่จำหน่าย B10 เพิ่มเป็น 300 แห่งภายในปีนี้ และครบทุกแห่ง 1,800 ปั๊ม ในวันที่ 1มี.ค.2563 แต่บรรดาดีลเลอร์ของโออาร์ ยังคงทำใจลำบาก ที่จะต้องมีทั้งหัวจ่ายB7และB10 แม้ว่ารัฐจะยังคงส่วนต่างราคาให้ถูกกว่า B7 อยู่ที่ 2บาทต่อลิตร เพื่อเป็นแรงจูงใจก็ตาม แต่ดีลเลอร์ รู้ดีว่า ผู้ใช้น้ำมันคงจะไม่เปลี่ยนพฤติกรรมกันง่ายๆ ยกเว้นว่ารัฐจะออกประกาศเป็นมาตรการบังคับให้ขาย B10 แทน B7ไปเลย

โจทย์ใหญ่ที่เป็นอุปสรรคของการใช้ B10 อีกเรื่องคือ จำนวนรถยนต์ที่เติมดีเซลในประเทศซึ่งมีอยู่ประมาณ 10.5 ล้านคัน (ข้อมูลกรมการขนส่งทางบกเมื่อก.ค.2562) กว่าครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 5 ล้านคันที่เป็นรถดีเซลรุ่นเก่ามากๆ และรถค่ายยุโรปราคาแพง ที่ยังไม่มีค่ายรถยนต์ใดออกมาการันตีว่าให้เติมB10ได้ เช่นเดียวกับค่ายรถญี่ปุ่น ทำให้ผู้ใช้รถยนต์ดีเซลเหล่านี้ ต้องตัดสินใจเสี่ยงเอาเอง ซึ่งแน่นอนว่า หากคนกลุ่มนี้ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมแบบทั้งกระดาน นโยบายB10 ก็คงไปไม่ถึงดวงดาว เช่นเดียวกับที่ B20 เคยเป็น และเดินตามรอยน้ำมัน E85 ในอดีต กลายเป็นภาระให้บรรดาบริษัทผู้ค้าน้ำมัน ต้องจัดการบริหารความเสี่ยงต้นทุนกันเอาเอง

การดำเนินนโยบายส่งเสริมการใช้B10 จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายฝีมือของ นายสนธิรัตน์ ว่าจะขับเคลื่อนตัวเลขยอดการใช้ได้ใกล้เคียงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 57ล้านลิตรต่อวันได้แค่ไหน

Advertisment