อดีตกกพ.ไม่เชื่อค่าไฟตามแผนPDP2018ต่ำจริง

1390
- Advertisment-

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) จะรวบรวมข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชาพิจารณ์โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนมาใช้ในการปรับปรุงร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศระยะยาวฉบับใหม่ หรือ PDP2018 ก่อนเสนอกระทรวงพลังงานใน 1- 2 วันนี้ ด้านอดีตกกพ. ไม่เชื่อ ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ทั้งแผนจะเหลือแค่ 3.576 บาทต่อหน่วย เหตุใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวนำเข้า(LNG)ในสัดส่วนสูง แถมผูกติดราคาน้ำมัน ที่อาจทำให้ต้นทุนสูงในอนาคต ส่วนประธานสร.กฟผ.ห่วงเปิดเสรีให้เอกชนแข่งกฟผ.สร้างโรงไฟฟ้ามากเกินไปกระทบความมั่นคงระบบไฟฟ้าประเทศ

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยในเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(PDP) ฉบับใหม่ว่า สนพ.ได้เปิดรับฟังความเห็นแผนPDPฉบับใหม่ของภาคกลาง ในพื้นที่ กทม. ซึ่งนับเป็นเวทีสุดท้าย เวทีที่ห้า  จากนั้นจะนำข้อเสนอแนะต่างๆไปรวบรวมปรับปรุงเพื่อนำเสนอต่อกระทรวงพลังงานใน 1-2 วันนี้ จากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป

โดยแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ข้อเสนอแนะที่จะนำมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ได้แก่ ข้อเรียกร้องให้เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ข้อเสนอแนะให้บรรจุข้อมูลด้านปริมาณสำรองไฟฟ้าในแผนPDPฉบับใหม่ให้ชัดเจน รวมถึงการตรวจสอบตัวเลขในแผนPDPใหม่ให้ถูกต้องมากขึ้น เป็นต้น

- Advertisment -

สำหรับ สาระสำคัญของร่างแผน PDP2018 ที่นำเสนอในเวทีสัมมนา แบ่งเป็น

1. ระบบผลิตไฟ้ฟ้าเพื่อความมั่นคง จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ระหว่างปี 2561-2580 มีทั้งสิ้น 51,415 เมกะวัตต์  แบ่งเป็น 1.)โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 20,757 เมกะวัตต์  2.)โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับของ กฟผ. 500 เมกะวัตต์  3.)โรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น 1,105 เมกะวัตต์ 4.)โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (ของ กฟผ.หรือ IPP) 13,156 เมกะวัตต์  5.)โรงไฟฟ้าถ่านหิน ลิกไนต์(กฟผ.หรือ IPP) 1,740 เมกะวัตต์ 6.)โรงไฟฟ้าต่างประเทศ 5,857 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าหลักแข่งขันระหว่างกฟผ.และIPP 8,300 เมกะวัตต์

2.โรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ ได้แก่ โรงไฟฟ้าขยะ 400 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 120 เมกะวัตต์ และ 3. โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผน AEDP ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ ได้แก่ 1.)โรงไฟฟ้าชีวมวล 3,376 เมกะวัตต์ 2.)โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 546 เมกะวัตต์ 3.)โซลาร์ภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์ แต่คาดว่าจะผลิตและขายเข้าระบบเพียง 4,000 เมกะวัตต์  4.)โซลาร์ลอยน้ำและพลังน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ 5.)พลังงานลม 1,485 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ รวมเป็น 18,176 เมกะวัตต์

สำหรับสัดส่วนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าตามแผน PDP ใหม่ แบ่งเป็น ก๊าซธรรมชาติ 53% เพิ่มขึ้นจาก 37% ของPDP2015 ที่เป็นฉบับปัจจุบัน , ถ่านหิน ลิกไนต์ 12% ลดลงจาก 23% ,ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 9% ลดลงจาก 15%, พลังงานหมุนเวียนเท่าเดิม 20%,เชื้อเพลิงอื่นๆ 0.06% ลดลงจาก 0.1% และการอนุรักษ์พลังงาน 6% จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดไว้ในPDPปัจจุบัน ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่บรรจุไว้ในแผน จากเดิมกำหนดให้มีสัดส่วน 5% จากแผนPDPฉบับปัจจุบัน

นอกจากนี้ตามแผนPDPฉบับใหม่ หรือ PDP2018พบว่าหลังปี 2568 ปริมาณการผลิตไฟฟ้าจะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยปริมาณไฟฟ้าจะอยู่ที่ระดับ 27,000 เมกะวัตต์ และหลังจากหากไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาจะส่งผลให้ไฟฟ้าไม่เพียงพอรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นโรงไฟฟ้าใหม่ที่เข้ามาจะต้องเป็นชนิดโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง เบื้องต้นกระทรวงพลังงานจะกำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เป็นผู้พิจารณาลงทุนก่อน และส่วนที่ กฟผ.ไม่สามารถลงทุนได้จะเปิดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าIPP ลงทุนต่อไป

อย่างไรก็ตามในส่วนของการประหยัดพลังงานกำหนดให้เกิดการประหยัด 4,000 เมกะวัตต์ ปลายแผน PDP ฉบับใหม่ ปี 2580 แบ่งเป็น กลยุทธ์ภาคบังคับ 3,744.58 เมกะวัตต์ และกลยุทธ์ภาคสนับสนุน 256.20 เมกะวัตต์

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล  อดีตกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กล่าวแสดงความคิดเห็นในเวทีประชาพิจารณ์ว่า ค่าไฟฟ้าตลอดแผนที่กำหนดไว้คงที่เฉลี่ยประมาณ 3.6  บาทต่อหน่วยคงเป็นไปได้ยากเพราะมีสัดส่วนการใช้ LNGที่เพิ่มขึ้นและราคา LNG นั้นจะผันแปรตามราคาน้ำมันซึ่งคาดว่าจะสูงขึ้น

นายดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทยกล่าวว่า  ร่างแผนPDP2018ไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการนำโซลาร์เสรีมาพิจารณาซึ่งเกรงว่าจะขัดกฏหมายปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ขณะเดียวกันPDPใหม่ฉบับนี้ยังหลุดจากความเป็นจริงเพราะไม่ชัดเจนถึงสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียน

นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) กล่าวว่า ร่างแผนPDPฉบับใหม่นี้เป็นการเอื้อให้กลุ่มทุนทั้งในและต่างชาติเข้ามาแข่งขันกับกฟผ.ซึ่งหากนำไปสู่การเปิดเสรีมากเกินไปอาจจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของชาติได้เพราะหากเกิดวิกฤติใครจะเป็นผู้ดูแลในเมื่อสัดส่วนของกฟผ.จะลดลง

นายชาญชัย บัณฑิตเสาวภาคย์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสพีซีจี จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินที่กำหนดไว้12% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด ซึ่งหากทำไม่ได้ตามแผนจะมีผลกระทบต่อสัดส่วนการผลิตเชื้อเพลิงอื่นๆทั้งหมด เพราะการกำหนดแผนดังกล่าวสวนทางกับกระแสโลกที่ไม่สนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและหันไปสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น นอกจากนี้เห็นว่ากฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์รูฟท็อป)ภาคประชาชน จะทำให้รัฐบาลไม่ได้ปริมาณไฟฟ้าตามเป้าหมายที่ 10,000 เมกะวัตต์ในปี 2580 ขณะที่ภาคเอกชนอาจจะพุ่งเป้าหมายการลงทุนที่โรงไฟฟ้าก๊าซฯ มากขึ้น แต่การกำหนดค่าไฟฟ้าคงที่ไว้ที่ 3.576 บาทต่อหน่วยตลอดจนถึงปี 2580 อาจเป็นปัจจัยที่ภาคเอกชนต้องพิจารณาว่าจะคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ด้วย

Advertisment