สื่อท้องถิ่น ขานรับ ‘Waste Side Story’ จ.เชียงใหม่ ร่วมเป็นเครือข่ายขยายความรู้ ‘พลังงานไฟฟ้าจากขยะ’ สู่ชุมชน         

1603
สื่อมวลชนท้องถิ่นที่เข้าร่วม Workshop การสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อท้องถิ่นต่อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ หรือ Waste Side Story Camp จ.เชียงใหม่
- Advertisment-

การประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อท้องถิ่นต่อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ หรือ Waste Side Story Camp ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 13-14 มกราคม 2563 ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ หลังสื่อมวลชนท้องถิ่นร่วมระดมพลังสร้างสรรค์คอนเทนต์และพร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านพลังงานไฟฟ้าจากขยะสู่ชุมชน ชี้ชุมชนต้องเริ่มคัดแยกขยะ เพื่อการบริหารจัดการที่ยั่งยืน   

จบลงอย่างเป็นที่น่าพอใจสำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ครั้งที่ 1 ของ โครงการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นต่อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ (Waste Side Story) ดำเนินการโดยศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562 ระหว่างวันที่ 13-14 มกราคม 2563 ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีสื่อมวลชนท้องถิ่นจากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง จำนวน 60 คน เข้าร่วม Workshop อย่างเป็นกันเอง พร้อมกับได้รับความรู้และเทคนิคที่เป็นประโยชน์จากกิจกรรมทั้งสองวัน ไม่ว่าจะเป็นชุดข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ขยะในประเทศไทยและการบริหารจัดการขยะอย่างถูกต้อง ตลอดจนเทคนิคคิดด้วยภาพ เพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์เรื่องการนำขยะไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะที่เหลือจากการจัดการ และสร้างประโยชน์คืนกลับสู่ชุมชน

นายกิตติพงษ์​ ภิญโญตระกูล รองเลขาธิการสำนักงาน กกพ. (กลาง) ถ่ายภาพร่วมกับวิทยากรและผู้เข้าร่วม workshop

กิจกรรม Workshop ในวันแรก สื่อมวลชนท้องถิ่นทั้ง 60 คน ได้ทำความรู้จักกับภารกิจของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโครงการนี้ โดยมุ่งหวังสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าจากขยะและการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยมีนายกิตติพงษ์​ ภิญโญตระกูล รองเลขาธิการสำนักงาน กกพ. เป็นประธานเปิดงาน พร้อมให้ข้อมูลปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้รัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาด้วยการนำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากช่วยลดปริมาณขยะแล้ว ยังสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้แก่ประเทศด้วย

- Advertisment -
นายกิตติพงษ์​ ภิญโญตระกูล รองเลขาธิการสำนักงาน กกพ.

“การเชิญสื่อมวลชนท้องถิ่นเข้ามาร่วมการสัมมนาให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจไฟฟ้า เพราะเมื่อสื่อมวลชนท้องถิ่นมีความรู้ที่ถูกต้อง ก็จะเป็นตัวกลางนำข้อเท็จจริง ความจริงต่าง ๆ จากต้นทาง ไปสู่ประชาชน นำไปสู่การใช้วิจารณญาณในการนำเสนอข่าวอย่างถูกต้อง และเมื่อมีเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นแล้ว จะทำให้เกิดการบูรณาการข่าวสารเรื่องพลังงานไฟฟ้าได้อย่างถูกต้อง”

“สำหรับโรงไฟฟ้าขยะนั้น ไม่ใช่ที่กำจัดขยะ แต่เป็นเพียงกระบวนการหนึ่งในการบริหารจัดการที่ทำให้เกิดมูลค่ามากขึ้น ขยะจึงไม่ใช่เรื่องโรงไฟฟ้าอย่างเดียว แต่ยังมีบริบทในเรื่องการบริหารจัดการด้วย เช่น การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนให้บริโภคโดยมีขยะเหลือน้อยที่สุด ซึ่งสื่อมวลชนท้องถิ่นสามารถให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนได้” นายกิตติพงษ์ กล่าว

นอกจากนั้น ใน workshop นี้ สื่อมวลชนท้องถิ่น ยังได้ร่วม รับฟัง – แลกเปลี่ยน – เรียนรู้ กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์หลายท่าน โดย รศ.ดร.สุระชัย ชูผกา อาจารย์คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง มองว่าบทบาทสื่อมวลชนท้องถิ่นจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนได้ หากมีการส่งผ่านข้อเท็จจริงสู่ชุมชน และปรับตัวให้เป็นทั้ง Mass Media และ Social Media หรือ สื่อมวลชนท้องถิ่นสายผสม เพื่อให้การนำเสนอข้อเท็จจริงได้รวดเร็ว เข้าถึงชุมชนได้มากขึ้น

ขณะที่ นายพร้อมพงษ์ วงศ์มณีนิล ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขต 1 (เชียงใหม่) ให้ข้อมูลปัญหาปริมาณขยะอาจสร้างวิกฤตให้สังคมไทยในอนาคต หากไม่รีบเร่งบริหารจัดการขยะตั้งแต่วันนี้ วิธีหนึ่งคือนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า แต่การสร้างโรงไฟฟ้าขยะจะต้องผ่านเกณฑ์ทั้งด้านเทคโนโลยี พื้นที่ ค่าไฟฟ้า รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

ด้าน ผศ.ดร.ปฏิรูป ผลจันทร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า จังหวัดเชียงใหม่ผลิตขยะวันละ 1,500 ตันต่อวัน หรือเกือบ 550,000 ตันต่อปี คิดเป็น 2% ของปริมาณขยะทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ 28 ล้านตันต่อปี และมีพื้นที่จัดการขยะเพียงไม่กี่แห่ง เช่น ศูนย์กำจัดมูลฝอยแบบผสมผสานบ้านตาล อ.ฮอด แม้มีพื้นที่กำจัดขยะใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ แต่มีข้อจำกัดเรื่องระยะทางไกล เกิดต้นทุนการขนส่ง กระทบค่าไฟฟ้าแพง พร้อมแนะแนวทางที่ได้ผล คือต้องคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน ชุมชน รถขนส่ง ไปจนถึงโรงคัดแยก

รศ.ดร.สุระชัย ชูผกา อาจารย์คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ซ้าย), นายพร้อมพงษ์ วงศ์มณีนิล ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขต 1 (เชียงใหม่) (กลาง), ผศ.ดร.ปฏิรูป ผลจันทร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ขวา)

ต่อด้วยกิจกรรม Workshop “ย่อยเรื่องขยะอย่างไรให้เข้าใจง่าย” โดยรับชุดข้อมูลความรู้เรื่องการจัดการขยะ ผ่านการแชร์ประสบการณ์ศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าจากขยะ Zabalgarbi Waste-to-Energy เมืองบิลเบา ประเทศสเปน โดย นายวัชรพงศ์ ทองรุ่ง บรรณาธิการบริหาร ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รวมทั้งได้ร่วมกันฝึกเทคนิคคิดด้วยภาพ โดย นายวิศรุต เคหะสุวรรณ เจ้าของเพจ คิดด้วยภาพ ซึ่งสอนเทคนิควิธีการเล่าเรื่อง (Story Telling) เพื่อให้สื่อมวลชนท้องถิ่น นำไปใช้ผลิตสื่อวิดีโอและสื่อออนไลน์

วัชรพงศ์ ทองรุ่ง บรรณาธิการบริหาร ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center – ENC (ซ้าย) , วิศรุต เคหะสุวรรณ เจ้าของเพจ คิดด้วยภาพ (กลาง) และ สุมนา วิสารทสกุล วิทยากรกระบวนการด้านการมีส่วนร่วม (ขวา)

บรรยากาศการ Workshop ในรอบนี้เป็นไปอย่างสนุกสนาน แต่ละคนได้ฝึกฝนวิธีการแปลงตัวหนังสือให้เป็นภาพแบบง่าย ๆ โดยใช้หลักการ WHO/WHAT, HOW MUCH, WHERE, WHEN, HOW และ WHY ทำให้เรื่องที่เล่ามีความน่าสนใจ และเข้าใจได้ง่ายขึ้น

การ workshop เทคนิคคิดด้วยภาพ
บรรยากาศผู้สื่อข่าวท้องถิ่น ทำกิจกรรม workshop เทคนิคคิดด้วยภาพ

หลังจากนั้น ผู้เข้าร่วมอบรม ได้ลงพื้นที่เรียนรู้เรื่องพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยแบบผสมผสานบ้านตาล อ.ฮอด พร้อมชมสถานีกระจายก๊าซชีวภาพจากพลังงานขยะบ้านป่าขาม และร่วมสัมภาษณ์เก็บข้อมูลจากชาวบ้านป่าขามซึ่งได้ประโยชน์จากก๊าซชีวภาพที่เกิดจากขยะฝังกลบนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าและก๊าซหุงต้ม (LPG) ให้ชาวบ้านใช้ฟรี หลังจากนั้นเป็นช่วงเวลาที่ นางสาวสุมนา วิสารทสกุล วิทยากรกระบวนการด้านการมีส่วนร่วม แนะนำวิธีคิดและดึงพลังความคิดสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของสื่อมวลชนท้องถิ่น ระดมสมองคิดผลิตผลงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการในการสัมมนาวันที่สอง

ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบผสมผสานบ้านตาล ต.บ้านตาล อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่รับจัดการขยะแบบฝังกลบใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ มีพื้นที่รับขยะ 2,000 ไร่ ปัจจุบันรับขยะอยู่ 700 ตันต่อวัน
หลุมฝังกลบขยะและบ่อก๊าชชีวภาพ ศูนย์กำจัดขยะแบบผสมผสานบ้านตาล อ.ฮอด โดยก๊าซที่ได้นำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ 2 เมกะวัตต์ และก๊าซหุงต้ม (LPG) ส่งผ่านทางท่อให้แก่ชาวบ้านบ้านป่าขามรอบศูนย์ฯ ได้ใช้ฟรี
ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นลงพื้นที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบผสมผสานบ้านตาล อ.ฮอด , นายประยุทธ์ ถนอมบุญ วิศวกรโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบผสมผสานบ้านตาล ต.บ้านตาล อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ (ซ้ายล่าง) บรรยายสรุปการดำเนินงานของศูนย์ฯ

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มกิจกรรม Workshop ในวันที่สอง ตัวแทนผู้สื่อข่าวท้องถิ่นซึ่งเป็นครูเพลงจ๊อยซอ ได้มาขับร้องเพลงพื้นบ้านล้านนา เนื้อหาของเพลงกล่าวถึงการร่วมกิจกรรม Workshop ทั้งสองวันนี้ ให้ผู้ร่วมการสัมมนาและคณะกรรมการรับฟัง ก่อนจะเปิดเวทีให้ทั้ง 6 กลุ่ม นำเสนอผลงานสร้างสรรค์คลิปวิดีโอและคอนเทนต์สำหรับสื่อออนไลน์ ซึ่งแต่ละกลุ่มระดมสมองและผลิตผลงานออกมาได้อย่างน่าสนใจ สร้างสรรค์ จับประเด็นได้ดี โดยผลงานต่าง ๆ เหล่านี้สะท้อนมุมมองของการแก้ปัญหาขยะอย่างถูกวิธี และการสื่อสารให้ชุมชนหรือคนในท้องถิ่นเห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะที่เป็นต้นทางของการจัดการขยะให้กับประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม นายวัชรพงศ์ ทองรุ่ง บรรณาธิการบริหาร ศูนย์ข่าวพลังงาน หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวดผลงานสร้างสรรค์ ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ เช่น เทคโนโลยีผลิตเชื้อเพลิงขยะ Refuse Derived Fuel : RDF และเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบขยะ (Landfill Gas) เพื่อเสริมความเข้าใจให้แก่สื่อมวลชนท้องถิ่นมากขึ้น

ขณะที่ รศ.ดร.สุระชัย ชูผกา อาจารย์คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถอดสมการ “พลังงานไฟฟ้าจากขยะ” จะเกิดขึ้นได้จริง หากประเทศไทยมีการจัดการขยะอย่างถูกต้อง เริ่มด้วยการคัดแยก ใช้เทคโนโลยีสะอาด และสร้างผลประโยชน์ให้แก่ชุมชน

สำหรับความเห็นของสื่อมวลชนที่เข้าร่วมกิจกรรม Workshop ในครั้งนี้ นางวิวรณ์ นามเทพ สื่อชุมชน อ.จอมทอง กล่าวขอบคุณทีมงานที่จัดกิจกรรมให้องค์ความรู้สื่อพื้นบ้าน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อขยะว่าเป็นเรื่องน่ากลัว จัดการไม่ได้ และเคยต่อต้านเรื่องการทำบ่อบำบัดขยะในอำเภอจอมทอง แต่เมื่อลงไปดูงานที่บ้านตาล อ.ฮอด ทำให้เห็นว่าขยะนั้นเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง เพราะสิ่งที่เห็นตรงกันข้ามกับสิ่งที่คิดไว้ว่าขยะจะส่งกลิ่นเหม็น ส่งผลกระทบต่อชุมชน ดังนั้นในฐานะที่เป็นกลไกหนึ่งในภาคประชาชนของอำเภอจอมทอง จะสื่อความรู้ในเรื่องนี้ให้แก่ชุมชน โดยจะเสนอโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดเวทีให้ชาวบ้านได้รับความรู้ในเรื่องการจัดการขยะ ให้มองเห็นว่าขยะไม่ใช่เพียงขยะแต่สร้างผลประโยชน์ให้ชุมชนได้จริง ๆ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าเรื่องขยะต้องเริ่มจากการจัดการด้วยตนเอง โดยคัดแยกขยะก่อนทิ้ง

ด้าน นายณัฐวัตร ลาพิงค์ ผู้สื่อข่าวท้องถิ่น จังหวัดเชียงราย มองว่าปัญหาขยะในหลายชุมชนเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดภาวะขยะล้นเมือง ซึ่งการร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำให้รู้ว่าการกำจัดขยะด้วยการนำไปผลิตพลังงานไฟฟ้า ทำให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน และหากสามารถให้ความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องจะทำให้ในชุมชนหลายพื้นที่ได้มีการจัดการขยะอย่างสมบูรณ์แบบและลดภาวะโลกร้อนได้ และในฐานะที่เป็นสื่อพบว่าหลายพื้นที่ยังไม่เข้าใจเรื่องการจัดการขยะ เพราะเป็นห่วง ผลกระทบเรื่องกลิ่นและผลกระทบจากโรงไฟฟ้า แต่ในความเป็นจริงหากมีการให้ข้อมูลอย่างถูกต้องโดยผู้นำท้องถิ่นนำไปเผยแพร่กับประชาชนในชุมชน เชื่อว่าในอนาคตจะสามารถสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะได้ในหลายพื้นที่ และจัดการขยะได้อย่างยั่งยืนจริง ๆ

นางวิวรณ์ นามเทพ สื่อชุมชน อ.จอมทอง (ซ้าย) , นายณัฐวัตร ลาพิงค์ ผู้สื่อข่าวท้องถิ่น จังหวัดเชียงราย (ขวา)

นายจตุพล วงศ์ชัย สื่อมวลชนท้องถิ่น เชียงรายรีพอร์ต มองว่าคนในท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในเรื่องการคัดแยกขยะ แต่เมื่อมาอบรมแล้วทำให้ได้ความรู้ว่าควรรณรงค์ให้แยกขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อลดระยะเวลาในการนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าและก๊าซชีวภาพ นอกจากนี้ ส่วนตัวมองว่าศูนย์จัดการขยะ ที่ อ.ฮอด เมื่อได้ลงพื้นที่ไปดูการดำเนินงานจริงแล้วไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่สิ่งที่ชาวบ้านกลัวและกังวลเป็นเพราะไม่เคยได้เห็นและรู้มาก่อน ซึ่งในความเป็นจริงนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่เป็นข่าวในสื่อออนไลน์ ทั้งนี้ จากการร่วมอบรมทั้งสองวันนี้ จะนำเทคนิคที่ได้รับมาสื่อสารเป็นภาพที่เข้าใจได้ง่าย ๆ และเผยแพร่ผ่านกลุ่มนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ให้เป็นสื่อกลางบอกต่อคนในครอบครัวเกี่ยวกับความสำคัญของการคัดแยกขยะ และขยะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้

นายไพศาล ภิโลคำ นายกสมาคมสื่อภาคพลเมือง สถานีวิทยุบ้านทุ่งเรดิโอ FM 89.50 กล่าวแสดงความดีใจและขอบคุณทีมงานที่ได้จัดการอบรมที่ อ.จอมทอง ให้แก่สื่อมวลชนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีต่อชาวบ้านเพราะทำให้กลุ่มผู้สื่อข่าวได้เรียนรู้เรื่องแนวคิด กระบวนการคัดแยกขยะ และขยายสู่ชุมชน ส่วนการดูงานศูนย์กำจัดขยะที่ อ.ฮอด ทำให้เห็นว่าการจัดการขยะเป็นสิ่งที่ควบคุมได้โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและสามารถแปลงพลังงานที่แฝงอยู่ในขยะมาใช้เป็นพลังงานก๊าซชีวภาพและใช้ปั่นกระแสไฟฟ้า ซึ่งหากแต่ละชุมชนสามารถทำได้ ก็จะเป็นมิติใหม่ที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่และช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนท้องถิ่นทั้งสื่อกระแสหลักที่เป็นวิทยุ โทรทัศน์ของรัฐ หรือบริษัทต่าง ๆ สื่อมวลชนทางเลือกหรือสื่อพลเมืองที่เป็นสื่อศิลปินพื้นบ้าน เช่น สื่อจ๊อยซอ สื่อคนที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณต่าง ๆ จะร่วมเป็นเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาขยะอย่างมีส่วนร่วม และนำความรู้ขยายสู่คนรุ่นใหม่ด้วย

นายจตุพล วงศ์ชัย สื่อมวลชนท้องถิ่น เชียงรายรีพอร์ต (ซ้าย) , นายไพศาล ภิโลคำ นายกสมาคมสื่อภาคพลเมือง สถานีวิทยุบ้านทุ่งเรดิโอ FM 89.50 (ขวา)

บทสรุปจากโครงการ Waste Side Story ที่จังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ โดยผ่านกิจกรรม Workshop และการลงพื้นที่จริง ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากขยะ และเปิดมุมมองเรื่องการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพโดยมีเทคโนโลยีช่วยควบคุมผลกระทบ ทำให้เกิดประโยชน์แก่คนในชุมชน และสื่อมวลชนท้องถิ่นจะมีบทบาทเป็นเครือข่ายที่ส่งต่อความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดการขยะอย่างยั่งยืนสู่ชุมชนได้

Advertisment