สกนช.ขีดเส้นยกเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพภายในปี 2569

664
- Advertisment-

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ขีดเส้นยกเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพไม่เกินปี 2569 โดยเลื่อนไปจากกำหนดเดิม 2 ปี เพื่อให้เกษตรกร, ผู้ผลิตไบโอดีเซลและเอทานอลเตรียมความพร้อม ด้านผู้ผลิตเอทานอล ชี้ต้องปรับตัวหันไปส่งออกเอทานอลหรือนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มโดยผลิตพลาสติกชีวภาพแทน

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยในระหว่างการพาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากเอทานอล ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 28 – 29 เม.ย. 2565 ว่า สกนช.จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ยกเลิกการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพภายใน 3 ปี ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 24 ก.ย. 2565 นี้ ดังนั้น สกนช. จึงต้องเข้ามาเก็บข้อมูลความต้องการของเกษตรกรและภาคเอกชนธุรกิจน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์​ หรือ ผู้ผลิต B100 และผู้ผลิตเอทานอล

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้เก็บข้อมูลด้าน B100 ไปแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างเก็บข้อมูลด้านเอทานอล โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) ขอเลื่อนการใช้มาตรการยกเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี ซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้ขอขยายเวลาดำเนินการได้ 2 ครั้ง ไม่เกินครั้งละ 2 ปี ซึ่งท้ายที่สุดมาตรการนี้จะต้องใช้จริงไม่เกินปี 2569

- Advertisment -
สกนช. นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากเอทานอล ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 28 – 29 เม.ย. 2565

การขยายเวลาดังกล่าวจะช่วยให้ทุกฝ่ายได้มีเวลาเตรียมความพร้อมนานขึ้น โดยระหว่าง 2 ปีนี้ ทางสกนช. จะต้องดำเนินการใน 2 ส่วนคือ 1.ส่งสัญญาณให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและอ้อย รับทราบข้อมูลว่า สกนช.ต้องยกเลิกชดเชยราคาในอนาคต เพื่อให้เกษตรกรเตรียมความพร้อมด้านการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในอนาคต 2.หากกระทรวงพลังงานกำหนดน้ำมันชนิดใดเป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศแล้ว ทาง สกนช.ก็พร้อมส่งเสริมด้วยการใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ สร้างส่วนต่างราคาจูงใจให้ประชาชนหันไปใช้น้ำมันชนิดนั้นมากขึ้น

ทั้งนี้จากการรับฟังข้อมูลพบว่า ผู้ประกอบการ B100 ยังไม่พร้อม แต่ผู้ประกอบการเอทานอลได้เตรียมพร้อมบ้างแล้ว โดยจะหันไปส่งออกเอทานอล หรือสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการผลิตพลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงการผลิตกระแสไฟฟ้ารองรับทิศทางการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(EV) ที่จะเข้ามาแทนที่รถที่ใช้น้ำมันมากขึ้น เป็นต้น

นายผรินทร์ อมาตยกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการตลาด กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า เอทานอลเป็นพลังงานทดแทนที่ผลิตได้จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทย ซึ่งมีการพัฒนาและยกระดับขั้นตอนการผลิตตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว และแปรรูป ที่ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกกระบวนการผลิต รวมทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับรายได้ของเกษตรกรด้วย


โดยตลอดระยะเวลากว่า 17 ปี ที่ประเทศไทยมีการส่งเสริมและใช้เอทานอลเป็นพลังงานทดแทนนั้น สามารถกระจายรายได้สู่เกษตรกรชาวไร่อ้อยจำนวน 2 ล้านราย กว่า 120,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10,000 ล้านบาท จากการเพิ่มมูลค่าให้กับกากน้ำตาล (โมลาส) ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการนำเข้าน้ำมันดิบ 12,000 ล้านลิตร มูลค่า 175,000 ล้านบาท ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 35 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยบริษัทฯ มีโรงงานผลิตเอทานอลตั้งอยู่ใน 4 จังหวัด มีกำลังการผลิตรวม 1.5 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 500 ล้านลิตรต่อปี ใช้วัตถุดิบจากน้ำอ้อยและกากน้ำตาล (โมลาส)

ทั้งนี้ เมื่อประเทศไทยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนความยั่งยืน มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 การสนับสนุนการผลิตและการใช้เอทานอล ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนจากพืชที่ปลูกได้ในประเทศไทยและมีกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

Advertisment