วิสาหกิจเนเปียร์ภาคอีสาน ยื่นหนังสือถึง “สนธิรัตน์” ขอมีเอี่ยวทำโรงไฟฟ้าชุมชน

2231
dav
- Advertisment-

วิสาหกิจหญ้าเนเปียร์มาแล้ว ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีพลังงานขอมีส่วนร่วมในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน  หลังจากถูกเทจากการที่รัฐเปลี่ยนนโยบายส่งเสริมมาเมื่อปี 2557  เผยมีสมาชิกที่พร้อมปลูกหญ้าเนเปียร์ เป็นวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้า ใน4 จังหวัด รวมกว่าหมื่นไร่ เชื่อนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน ช่วยให้เกิดตลาดรับซื้อที่แน่นอนระยะยาว และชาวบ้านมีรายได้เพิ่ม

เมื่อวันที่ 14พ.ย.2562ที่ผ่านมา แกนนำชมรมวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ภาคอีสาน นำโดย นายจำเนียร นนทะวงษ์ ประธานชมรม และนายปรีชา ปักกัง สมาชิกสภาเกษตรกร จังหวัดมหาสารคาม ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมีนายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา เป็นตัวแทนรับหนังสือ  ทั้งนี้กลุ่มชมรมวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ดังกล่าว ถือเป็นกลุ่มที่เคยได้รับผลกระทบจากนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์เมื่อปี2557 สมัยที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล เป็นรัฐมนตรีพลังงาน ที่ถูกรัฐบาลคสช.สั่งยกเลิกนโยบายการส่งเสริมกลางคัน ทำให้กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ได้รับผลกระทบเพราะไม่สามารถขายผลผลิตได้

นายจำเนียร นนทะวงษ์ ประธานชมรมวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ภาคอีสาน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวภายหลังจากการยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีพลังงาน เพื่อขอมีส่วนร่วมในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดที่จะสนับสนุนว่า  ชมรมมีสมาชิกจาก 4 จังหวัด คือ ศรีษะเกษ นครราชสีมา มหาสารคาม สกลนคร ที่มีพื้นที่พร้อมปลูกหญ้าเนเปียร์ รวมกว่าหมื่นไร่ เพื่อนำผลผลิตมาหมักรวมกับมูลสัตว์ให้เกิดก๊าซชีวภาพ ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชุมชน ตามนโยบายของกระทรวงพลังงานได้ จึงเดินทางมายื่นหนังสือขอให้รัฐมนตรีพลังงานพิจารณาสนับสนุน โดยให้ชมรมได้มีส่วนร่วมเป็นผู้คัดเลือกเทคโนโลยีและเอกชนผู้ร่วมลงทุนหลักเพื่อความยั่งยืนของโครงการในระยะยาว

- Advertisment -

นายจำเนียร กล่าวว่า โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพที่ใช้หญ้าเนเปียร์หมักรวมกับมูลสัตว์ มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จแล้วที่ จ.อุบลราชธานี โดยขนาดกำลังการผลิต 1เมกะวัตต์จะใช้พื้นที่ปลูก ประมาณ500-600 ไร่  ซึ่งสามารถใช้ท่อนพันธุ์ปลูกครั้งเดียว เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปีละ3-5รอบ  ต่อเนื่องไป 5ปี  คิดเป็นต้นทุนประมาณ 4,000 บาทต่อไร่  แต่เกษตรกรผู้ปลูกจะมีรายได้  จากการขายเป็นวัตถุดิบให้โรงไฟฟ้าประมาณ 15,000-20,000 บาทต่อไร่ ซึ่งจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง มาปลูกหญ้าเนเปียร์ทดแทนได้

นายจำเนียร กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาชิกของชมรมมีการปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อใช้เป็นอาหารของวัว ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าที่จะมีรายได้เข้ามา แต่หากเป็นการปลูกเพื่อใช้ป้อนโรงไฟฟ้าชุมชน  นอกจากจะทำให้ชุมชนมีตลาดรับซื้อที่แน่นอนในระยะยาวแล้ว  ด้วยรอบการเพาะปลูกที่ใช้เวลาประมาณ 3-4เดือน ยังช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกมีรายได้เข้ามาเร็วขึ้น และหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจในชุมชนให้ดีขึ้น  ตรงตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

ตัวอย่างแปลงปลูกหญ้าเนเปียร์

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกหรือ AEDP ฉบับปรับปรุงล่าสุด กำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพืชพลังงาน(หญ้าเนเปียร์)ภายในปี2565 ประมาณ 300 เมกะวัตต์  โดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ที่รับผิดชอบการจัดทำโมเดลและรายละเอียดการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จะนำเสนอให้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ที่มีรัฐมนตรีพลังงาน เป็นประธาน พิจารณา ในการประชุมวันที่ 4 ธ.ค.2562 นี้

Advertisment