รู้จักเงิน “Claw Back” อีกหนึ่งเครื่องมือของ กกพ. ในการกำกับดูแลค่าไฟฟ้าให้มีความเป็นธรรม

1735
- Advertisment-

หลายคนอาจทราบดีว่า บทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.  คือ การกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้า แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่อาจจะยังไม่ทราบว่า กกพ. ดำเนินการอย่างไรและใช้เครื่องมืออะไรบ้าง ในการกำกับดูแลค่าไฟฟ้าให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้ไฟ โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  หรือ COVID-19 ที่มีผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนหลายล้านครัวเรือนได้รับผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาดนี้

ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center – ENC จึงชวนมารู้จักกับเครื่องมือหนึ่งที่ กกพ.  นำมาใช้เยียวยาผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก “โควิด-19” รวมถึง 22 ล้านครัวเรือน นั่นคือ “เงิน Claw Back”

Claw Back เป็นเงินที่ กกพ. เรียกคืนมาจาก 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA ) ในส่วนที่ไม่ได้ใช้ลงทุนตามแผนที่เสนอให้ กกพ. พิจารณา ในช่วงที่มีการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า โดยคิดตามอัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (Self-Financial Ratio: SFR) ในอัตราร้อยละ 25 และค่าเสียโอกาสทางการเงินของผู้ใช้ไฟฟ้าในอัตราไม่น้อยกว่า MLR เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ 5 ลำดับแรกของประเทศไทย บวกสอง

- Advertisment -

อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น คือ ปกติรายได้จากการขายไฟฟ้าที่ทั้ง 3 การไฟฟ้าได้รับ จะมีการบวกรวมต้นทุนโครงการลงทุนต่างๆ และผลตอบแทนการลงทุนตามแผนที่ได้แจ้งกับทาง กกพ. ไว้ในโครงสร้างค่าไฟฟ้าไปแล้ว แต่ในกรณีที่เมื่อถึงเวลาตามที่แจ้งในแผน ทั้ง 3 การไฟฟ้า ยังไม่ได้ลงทุนในโครงการนั้นๆ หรือโครงการนั้นๆ ถูกชะลอออกไป กกพ. ก็จะสามารถเรียกเงินส่วนที่คิดคำนวณไว้เกิน ซึ่งรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าตามต้นทุนที่ประเมินการลงทุนต่างๆ ไปด้วยแล้วดังที่กล่าว กลับคืนมา พร้อมอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคือเงิน Claw Back นั่นเอง

กกพ. เห็นชอบใช้เงินที่ส่งคืนจากการลงทุนที่ไม่เป็นไปตามแผน หรือ Claw Back นี้ จาก กฟผ. กฟน. และ PEA บวกเงินค่าปรับที่เกิดขึ้นจากการบริหารสัญญาของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ในช่วงปี 2557-2562 รวมทั้งเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน มาใช้เยียวยาผลกระทบจาก “โควิด-19” ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย รวม 22 ล้านครัวเรือน ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน ที่ให้ กกพ. หาแนวทางเยียวยาลดค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชนจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19

 

โดยเงิน Claw Back นี้ รวมถึงเงินช่วยเหลือลดค่าไฟส่วนอื่นๆ จะมาทยอยคืนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าผ่านส่วนลดค่าไฟเดือน มีนาคม เมษายน และ พฤษภาคม 2563 เช่น ในส่วนของ กฟน. ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป หากนำใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดิมที่ยังไม่ได้ระบุส่วนลดตามมาตรการเยียวยา ไปชำระค่าไฟฟ้า ก็จะได้รับสิทธิส่วนลดโดยอัตโนมัติ และกรณีชำระค่าไฟฟ้าไปแล้วโดยยังไม่ได้รับส่วนลด กฟน. จะคืนเงินโดยหักส่วนลดในค่าไฟฟ้าเดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

ที่ผ่านมา กกพ. จะพิจารณากำกับดูแลและเรียกคืนเงิน Claw Back เป็นรายปี เพื่อนำมาบริหารจัดการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าหากค่าไฟฟ้าปรับขึ้นตามต้นทุน โดย กกพ. มักจะนำเงินส่วนนี้มาใช้ในการพยุงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในช่วงที่ราคาค่าเชื้อเพลิง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ปรับตัวสูงขึ้น โดยเงิน Claw Back ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ที่รวมอยู่ในกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ปัจจุบันมีสะสมอยู่ตามมาตรา 97 (1) ประมาณ 23,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในปีนี้ ที่ราคาก๊าซจะปรับลดลงตามราคาน้ำมันเฉลี่ยย้อนหลัง 6-12 เดือนนั้น  ค่าเอฟที คงจะไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นแน่ กกพ. จึงสามารถที่จะนำเงิน Claw Back ที่เหลืออยู่มาใช้ลดค่าไฟฟ้าตามนโยบายรัฐบาล เพื่อเยียวยาผลกระทบ COVID-19 ได้ แต่อาจจะต้องพิจารณาแนวทางเตรียมไว้ ในกรณีเมื่อนำเงิน Claw Back มาลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนแล้ว กกพ. จะไม่มีเงินเหลือพยุงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ในกรณีที่ค่าเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต

Claw Back จึงเป็นเหมือนเครื่องมือสำคัญ สำหรับเติมเต็มบทบาทและภารกิจของ กกพ. ในการดูแลอัตราค่าไฟฟ้า ให้เกิดความเป็นธรรมสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า

Advertisment