รัฐบาลและกฟผ.ยอมแบกภาระ1,000ล้านบาท เอาน้ำมันปาล์มไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า

4349
- Advertisment-

กระทรวงพลังงานยอมเอาน้ำมันปาล์มไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าราชบุรีและบางปะกง  โดยรัฐบาลและกฟผ.จะร่วมรับภาระในต้นทุนที่เพิ่มขึ้นประมาณ1,000 ล้านบาท คาดช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มส่วนเกินในระบบได้ 1.6แสนตันในช่วงระยะเวลา3เดือน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center –ENC) รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2561 นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงมาตรการเร่งด่วนในการดูดซับน้ำมันปาล์มส่วนเกินในระบบเพื่อแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ  โดยยอมที่จะให้มีการนำน้ำมันปาล์มไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าราชบุรี และบางปะกง เป็นเวลา3 เดือน  แม้ว่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นกว่าปกติ  ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นประมาณ1,000 ล้านบาทนั้น  รัฐบาลจะตั้งงบประมาณเข้ามาช่วยรับภาระ 500 ล้านบาท และ อีก 500 ล้านทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)จะเป็นผู้รับภาระ

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2556 และ 2558 รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน เคยแก้ปัญหาปาล์มล้นตลาดจนส่งผลให้ราคาปาล์มตกต่ำ แล้วโดยนำไปผสมกับน้ำมันเตาเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้ากระบี่ ที่กฟผ.ต้องลงทุนติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยดูดซับปริมาณปาล์มออกจากตลาดได้อย่างรวดเร็ว  แต่ กฟผ. ก็ได้มีการสรุปผลมาตรการดังกล่าวด้วยเช่นกันว่า เป็นแนวทางที่ทำให้เกิดผลได้ไม่คุ้มกับผลเสีย เนื่องจาก ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันปาล์มสูงถึง 8.42 บาทต่อหน่วย เมื่อเทียบกับน้ำมันเตาที่ปัจจุบันโรงไฟฟ้ากระบี่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักอยู่ 3.78 บาทต่อหน่วย และยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงกว่า โดยในครั้งนั้น ภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นถูกผลักไปให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันรับภาระในค่าไฟฟ้าส่วนของค่าเอฟที

- Advertisment -

โดย นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับสื่อมวลชน ว่า ขณะนี้ กฟผ. กำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้สามารถใช้น้ำมันปาล์มได้ จากปัจจุบันเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักและสามารถใช้น้ำมันดีเซลได้ในกรณีจำเป็น โดยจะเร่งดำเนินการให้เกิดการใช้น้ำมันปาล์มให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ การนำน้ำมันปาล์มมาใช้ในโรงไฟฟ้าจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น 20-30 สตางค์ต่อหน่วย แต่เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน รัฐบาลจะต้องนำเงินมาชดเชยประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการใช้งบกลางของรัฐบาลชดเชย 500 ล้านบาท และการหักกลบจากค่าสายส่งสายจำหน่ายอีก 500 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ กฟผ.จะเป็นผู้รับภาระ

สำหรับมาตรการอื่นๆในการช่วยดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์ม คือ การเพิ่มสัดส่วนการผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ในน้ำมันดีเซล โดยตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 2561 นี้ จะกำหนดให้ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขั้นต่ำอยู่ที่ 6.8% จากเดิมผสมอยู่ 6.6% ซึ่งจะช่วยให้เกิดการซื้อมันปาล์มได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8 หมื่นตันต่อปี หรือเกิดการเริ่มซื้อขึ้นทันทีในครั้งแรก 1.5 หมื่นตัน รวมทั้งการ สนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซล B20 (น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่ผสมในดีเซล 20% ในทุกลิตร) โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.)และบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) เพื่อทดลองใช้ดีเซล B20 ในรถประจำทาง เป็นเวลา 1 เดือน โดยมีแผนการใช้ดีเซล B20 ในปริมาณ 7 ล้านลิตรต่อเดือน และจะทำให้การใช้ดีเซล B20 โดยรวมในเดือนธ.ค. 2561 รวมเป็น 20 ล้านลิตรต่อเดือน  อย่างไรก็ตาม ได้ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์ม (CPO) ในส่วนนี้ให้ได้ 6 แสนตันต่อปี ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ปัจจุบันสต๊อกปาล์มดิบมีอยู่ 3.7 แสนตันต่อปี จากปกติควรอยู่ที่ 2.5 แสนตันต่อปี จึงเป็นปัญหาล้นตลาด ดังนั้นทั้ง 3 มาตรการของกระทรวงพลังงานเบื้องต้นจะช่วยให้เกิดการดูดซับน้ำมันปาล์มส่วนเกินที่ล้นตลาดได้หมดและทำให้ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) อยู่ระดับเหมาะสม 2.5 แสนตันได้ อย่างไรก็ตามมาตรการนำน้ำมันปาล์มไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยผลักดันราคาผลผลิตปาล์มดิบของเกษตรกรให้ขยับขึ้นจาก 3 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 3.50 บาทต่อกิโลกรัมได้

Advertisment