สำนักงาน กกพ.ส่งสัญญาณ 3 Shipper จ่อนำเข้า LNG ในโควต้ารวม 3.02 ล้านตัน ของปี 2566

- Advertisment-

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ส่งสัญญาณ ผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper) รายใหม่ เริ่มสนใจนำเข้า LNG อีกครั้ง หลังราคาลดลงเหลือ 9-10 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู เผย 3 บริษัท เดินหน้าขอหลักการนำเข้าจาก กกพ. แล้ว ยังต้องลุ้นจะนำเข้าได้จริงหรือไม่ ในโควต้ารวม 3.02 ล้านตันของปี 2566 

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 สำหรับปี 2566 นี้ ยังคงมีโควต้านำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จำนวน 3.02 ล้านตัน สำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper) รายใหม่ (ทั้งหมด 7 ราย) ปัจจุบันมี Shipper เริ่มให้ความสนใจนำเข้า LNG เนื่องจากราคา LNG ตลาดโลกถูกลงจนเหลือประมาณ 9-10 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งลดลงจากปี 2565 ที่สูงเกินกว่า 30 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู 

โดย Shipper รายใหม่ที่เข้ามาขอหลักการนำเข้า LNG กับทาง กกพ. ในปี 2566 นี้ ได้แก่ 1.บริษัท PTT Global LNG Company Limited หรือ PTTGL  2.บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด 3.บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด

- Advertisment -

เบื้องต้น PTTGL ต้องการนำเข้า LNG เพื่อมาทดแทนก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ลดลง และรองรับลูกค้ารายใหม่ ส่วนบริษัท บี.กริมฯ เบื้องต้นจะนำเข้าเพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้า SPP Replacement จำนวน 5 โรง และบริษัท หินกองเพาเวอร์ฯ จะนำเข้าเพื่อเตรียมการป้อนให้โรงไฟฟ้าหินกองโดยตรง จำนวน 1.4 ล้านตันต่อปี ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งนี้มีกำหนดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(COD) เฟสแรก 700 เมกะวัตต์ ในวันที่ 1 มี.ค. 2567 และเฟส 2 อีก 700 เมกะวัตต์ COD วันที่ 1 ม.ค. 2568  

ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะนำเข้า LNG เพื่อมาใช้กับโรงไฟฟ้าบางปะกงทดแทน ในปี 2566 นี้หรือไม่ คงต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมา กฟผ.ต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนไปจำนวนมาก จึงต้องรอดูสภาพคล่องทางการเงินและความพร้อมของ กฟผ.ก่อน 

อย่างไรก็ตามแม้ราคา LNG ตลาดโลกจะเริ่มถูกลง แต่ปัญหาสำคัญคือ จะสามารถจองซื้อได้หรือไม่ เนื่องจากตลาด LNG ยังไม่นิ่งและเมื่อราคาเริ่มถูกลง หลายประเทศต่างก็เร่งซื้อ LNG เก็บไว้เช่นกัน 

ทั้งนี้ กกพ.ได้ประสานความร่วมมือกับ บริษท ปตท.จำกัด(มหาชน) บริหารจัดการก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอใช้ในประเทศ และให้เกิดความมั่นคงด้านไฟฟ้าระยะยาว โดยขณะนี้ราคา LNG ตลาดโลกเริ่มถูกลง ดังนั้นทาง ปตท. จะเร่งจัดหา LNG เพื่อเก็บไว้ล่วงหน้า แต่เนื่องจากถังเก็บ LNG มีจำกัด ดังนั้นจึงต้องเป็นการสั่งซื้อล่วงหน้า และส่งมอบกันในภายหลังแทน เพื่อแก้ปัญหาถังเก็บในประเทศมีจำกัดนั่นเอง เบื้องต้น ปตท.จะนำเข้า LNG ในปี 2566 นี้ประมาณ 96 ลำเรือ หรือเกือบ 6 ล้านตัน 

ขณะเดียวกัน กกพ.ได้ประสานผู้ผลิตไฟฟ้าบางแห่งให้กลับมาใช้ LNG แทนน้ำมันดีเซลแล้ว หลังจากต้นทุน LNG เริ่มถูกกว่าน้ำมัน เพื่อให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง และส่งผลดีต่อราคาค่าไฟฟ้าของประชาชนในงวดถัดไป 

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระยะที่เปิดให้ทดลองนำเข้าเสรี โดยกำหนดเปิดเป็นโควต้านำเข้า LNG จำนวน 3 ปี ได้แก่ปี 2564 จำนวน 4.8 แสนตัน แต่นำเข้าจริง 6 แสนตัน เนื่องจากราคา LNG โลกยังไม่แพงมาก อยู่ที่ประมาณ 10-20 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู 

ต่อมาปี 2565 กำหนดโควต้า  4.5 ล้านตัน มีเพียง กฟผ. สามารถนำเข้าได้เพียงรายเดียว ประมาณ 1.3 แสนตัน ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2565 เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าบางปะกงทดแทน เนื่องจาก  ราคา LNG โลกปรับขึ้นสูงมากกว่า 30 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู หลังจากนั้น กฟผ.ก็ไม่สามารถนำเข้า LNGได้อีก เนื่องจากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินจากการชดเชยราคาค่าไฟฟ้าประชาชนจำนวนมาก โดยโควต้าที่เหลือภาครัฐได้มอบหมายให้ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)  เป็นผู้นำเข้า เพื่อดูแลโรงไฟฟ้าเดิมที่ต้องการใช้ก๊าซฯ เป็นหลัก

ดังนั้นในช่วงเดือน เม.ย. 2565 ทาง กกพ.จึงแก้ปัญหาด้วยการออกประกาศ “หลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติ (Energy Pool Price: EPP) ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบ” โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเปิดทางให้ Shipper รายใหม่ สามารถนำเข้าก๊าซ LNG จากแหล่งใดก็ได้เพื่อมาผลิตไฟฟ้าโดยสามารถนำราคา LNG มาหารเฉลี่ยในราคา Pool Gas ให้กลายเป็นราคาเฉลี่ยต้นทุนเชื้อเพลิง  ซึ่งวิธีการนี้จะส่งผลให้ Shipper เกิดการแข่งขันนำเข้า LNG โดยที่ กกพ.จะเป็นผู้เลือกซื้อ LNG จาก Shipper ที่เสนอราคาต่ำที่สุดก่อนไล่เรียงตามลำดับ แต่ในปี 2565 ก็ยังไม่มี Shipper รายใดนำเข้า LNG นอกจาก กฟผ. ที่นำเข้ามาดังกล่าว

และในปี 2566 ภาครัฐกำหนดโควต้านำเข้า LNG ไว้ 3.02 ล้านตัน ประกอบกับใช้หลักเกณฑ์ EPP และราคา LNG ตลาดโลกปรับลดลงเหลือ 9-10 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู จึงเริ่มมี Shipper ส่งสัญญาณสนใจนำเข้าในปี 2566 นี้บ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะจัดหาและนำเข้าได้จริงหรือไม่ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป   

สำหรับ Shipper รายใหม่ มีอยู่ทั้งหมด 7 ราย ได้แก่

  1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
  2. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
  3. บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด
  4. บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด
  5. บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก
  6. บริษัท PTT Global LNG Company Limited หรือ PTTGL
  7. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG
Advertisment

- Advertisment -.