รัฐชงแพ็กเกจรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนปี 65 หวังจูงใจนักลงทุน

2238
N1022
- Advertisment-

กระทรวงพลังงานเตรียมแพ็กเกจรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนหลายประเภททั้งโซลาร์เซลล์ , ลม, ขยะ,ชีวมวลและชีวภาพ ประมาณกลางปี 65 รวมปริมาณกว่า 840 เมกะวัตต์ หวังจูงใจนักลงทุน โดยคาดว่าจะเสนอรัฐมนตรีพลังงานพิจารณาได้ไตรมาสแรกปีหน้า ในขณะที่ผลกระทบค่าไฟจากนโยบายส่งเสริมคิดเฉพาะปี63และ64 ประชาชนช่วยรับภาระกว่า 1 แสนล้านบาท

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า การเร่งเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหลายประเภทภายในปี 2565 นี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุงแก้ไขแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่มีการปรับปรุงใหม่ในระยะ10ปีแรก ( ปรับปรุง PDP2018 Rev1 ระยะ 2564-2573 )​ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)​ ไปเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา

โดยคาดว่าจะมีการนำเสนอแพคเกจรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณาได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 และคาดว่าจะเริ่มเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้ประมาณ กลางปี 2565 เป็นต้นไป รวมปริมาณรับซื้อประมาณ 840 เมกะวัตต์ เพื่อใหัเป็นไปตามการปรับแผน PDP2018 Rev1 ระยะ 2564-2573 ที่ โซลาร์เซลล์จะเข้าระบบในปี 2566 จำนวน 200 เมกะวัตต์

- Advertisment -

ไฟฟ้าจากพลังงานลมจะเข้าระบบในปี2567 จำนวน 200 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าจากชีวมวลและชีวภาพ เข้าระบบในปี 2566 จำนวน 140 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าจากขยะชุมชนรวมทั้งขยะอุตสาหกรรม เข้าระบบในปี 2567 จำนวน 300 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตามการเสนอแพ็กเกจดังกล่าว จะต้องสรุปทั้งในเรื่องปริมาณและราคารับซื้อไฟฟ้า รวมถึงรายละเอียดหลักเกณฑ์ต่างๆ ก่อนที่จะให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)เป็นผู้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า

ทั้งนี้ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานจะพิจารณาเปิดรับซื้อไฟฟ้าทีละโครงการและเมื่อเปิดรับซื้อเสร็จแล้วก็จะปิดรับซื้อเป็นเวลานาน ดังนั้นการเปิดรับซื้อไฟฟ้าแบบเป็นแพ็กเกจนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนและเตรียมพร้อมในทุกภาคส่วนได้ชัดเจนกว่า

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้นเป็นภาระต้นทุนที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องร่วมกันจ่าย เนื่องจากกระทรวงพลังงานมีการกำหนดราคารับซื้อที่สูงกว่าไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สรุปถึงผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าจากนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบทั้งในรูปของการให้ส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder)​ และการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed in Tariff หรือ FiT)​ ที่รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าทั้งค่าไฟฟ้าฐานและค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที เฉพาะในปี 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 30.18 สตางค์​ต่อหน่วย คิดเป็นเงินประมาณ 52,166 ล้านบาท และในปี 2564 คิดเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 32.11สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นเงินประมาณ 56,554 ล้านบาท ซึ่งรวมเพียง 2 ปี คิดเป็นวงเงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายมากถึง 108,720 ล้านบาท

Advertisment