ระวัง! ดีเซลจะติดกับดักตรึงราคาซ้ำรอย

252
- Advertisment-

มาตรการเข้าอุ้มราคาดีเซลภายหลังกรมสรรพสามิตไม่ต่อมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาทต่อลิตรตั้งแต่ 21 ก.ค. 2566 เป็นต้นมา โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงช่วยพยุงราคาดีเซล ด้วยการรักษาเสถียรภาพราคาไว้ที่ประมาณ 32 บาทต่อลิตร ซึ่งแม้ว่าจะส่งผลดีต่อค่าครองชีพประชาชน ลดความเสี่ยงจากการเกิดภาวะเงินเฟ้อ แต่มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาที่ 32 บาท อาจกลายเป็น Benchmark ตัวใหม่ในการตรึงราคาดีเซลก็เป็นได้ หากใช้ระยะเวลาการพยุงราคาเนิ่นนานเกินไป

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) แบ่งรับแบ่งสู้ในเรื่องนี้ว่า การรักษาเสถียรภาพราคาไว้ไม่เกิน 32 บาทต่อลิตรไม่ได้การันตีว่าจะคงไว้ที่ตัวเลขนี้ตลอดไป เพราะต้องดูองค์ประกอบอื่นที่เป็นปัจจัยส่งผลต่อการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯด้วย

โดยปัจจัยที่ต้องโฟกัสมีทั้งราคาดีเซลในตลาดโลก การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ เศรษฐกิจของประเทศจีน การผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัส อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่ยุติ ฯลฯ

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม แม้ฐานะกองทุนน้ำมันฯยังติดลบ แต่กองทุนน้ำมันฯก็มีสภาพคล่องมากพอที่จะเข้าไปช่วยพยุงราคาดีเซลได้หลังจากได้เงินกู้ยืมเข้ามาเติมในระบบ ตามกรอบวงเงิน 150,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้บรรจุเป็นหนี้สาธารณะแล้ว 110,000 ล้านบาท โดยกองทุนน้ำมันฯ ชำระหนี้ให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ไปแล้ว 55,000 ล้านบาท คงเหลืออีก 55,000 ล้านบาท ที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม ซึ่งคงต้องรอดูกันในระยะเวลา 2 – 3 เดือนนี้ว่า จะยังคงตรึงราคาไว้ได้มากน้อยเพียงใด เพราะปัจจัยสำคัญที่สุดคือ ราคาดีเซลในตลาดโลกจะต้องไม่สูงเกิน 110 – 125 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ไม่เช่นนั้นกองทุนน้ำมันฯ จะประสบปัญหากลับไปขาดสภาพคล่องเหมือนช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา

ปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 6 ส.ค.2566 ติดลบ 50,438 ล้านบาท บัญชีน้ำมันติดลบ 5,323 ล้านบาท บัญชีก๊าซติดลบ 45,115 ล้านบาท

ในระยะเวลาอันใกล้นี้ทิศทางราคาขายปลีกดีเซลของไทยยังคงจะปรับไปให้ใกล้เคียงราคาตลาดที่แท้จริงได้ยาก เพราะยังถือเป็นน้ำมันทางเศรษฐกิจ หรือถ้าจะพูดให้ถูกแล้วดีเซลเป็นน้ำมันทางการเมืองที่สำคัญที่เกือบทุกรัฐบาลยังต้องเข้าโอบอุ้มพยุงราคาอยู่

การบริหารจัดการที่สอดคล้องกับสถานการณ์โดยคำนึงถึงสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของกองทุนน้ำมันฯ และผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชนและเศรษฐกิจในภาพรวมโดยไม่เอนเอียงยึดมั่นกับการตรึงราคาเพียงอย่างเดียว ก็จะส่งผลให้มีโมเมนตัมในการปรับตัวตามสภาพเป็นระยะๆ ไม่หวนคืนกลับกลายเป็นการตรึงราคาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด รวมถึงไม่ยึดติดที่ราคาลิตรละ 32 บาทด้วย เพราะโลกความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

Advertisment