ผลเสียตรึงดีเซลยอดใช้ 3 เดือนแรก พุ่ง 13.4 % มูลค่านำเข้าน้ำมันดิบเพิ่ม 9.3 หมื่นล้าน

334
- Advertisment-

กรมธุรกิจพลังงานเผยตัวเลขนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง 3 เดือนแรกปี65 พุ่ง 10.5%ในขณะที่มูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นกว่า 95.1% หรือกว่า 9.3 หมื่นล้าน สะท้อนให้เห็นผลเสียของนโยบายการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตรซึ่งต่ำกว่าต้นทุนและทำให้ไม่เกิดการประหยัดการใช้

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน( Energy News Center-ENC​ )​ รายงานข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงานถึงสถานการณ์​การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือน มกราคม – มีนาคม 2565 ว่า เฉลี่ยอยู่ที่ 1,036,135 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.4) โดยการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 972,261 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.5) สอดคล้องกับความต้องการใช้ในประเทศที่สูงขึ้น โดยมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 93,798 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 95.1)

สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 63,874 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 5,535 ล้านบาท/เดือน

- Advertisment -

ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม – มีนาคม 2565 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกลดลงมาอยู่ที่ 156,798 บาร์เรล/วัน (ลดลง ร้อยละ 7.2) คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 16,637 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 66.6) มูลค่าการส่งออกที่สูงขึ้นสวนทางกับปริมาณการส่งออกที่ลดลงเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาของปี 2565

ในขณะที่ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม – มีนาคม 2565 เฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.3 เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

โดยการใช้กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 เฉลี่ยอยู่ที่ 76.25 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.4)

สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 64.73 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 61.9)

น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 3.49 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้ 0.21 ล้านลิตร/วัน

จากนโยบายการตรึงราคาเอาไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรซึ่งเป็นระดับราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนจริงและต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปชดเชย

ในขณะที่การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม – มีนาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.32 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง ร้อยละ 5.7) การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ อี20 และเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 6.88 ล้านลิตร/วัน 15.21 ล้านลิตร/วัน 5.70 ล้านลิตร/วัน และ 0.57 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ส่วนการใช้แก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.96 ล้านลิตร/วัน

หากพิจารณาการใช้กลุ่มเบนซินเฉพาะเดือนมีนาคม 2565 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบว่าการใช้ลดลงร้อยละ 6.2 เนื่องจากราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินอยู่ในระดับสูง โดยราคาแก๊สโซฮอล์ปรับสูงขึ้นร้อยละ 10-13

ส่วนน้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์(Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.6 น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 การใช้ NGV เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9

Advertisment