ผลิตไฟฟ้าราชบุรี เตรียมพร้อมประมูลโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก2โรงรวม1,400เมกะวัตต์

4134
- Advertisment-

บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ประกาศเตรียมความพร้อมสูงสุด ร่วมประมูลสร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 2 โรง ขนาดโรงละ 700 เมกะวัตต์ ทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ที่จะหมดอายุปี 2563 และโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น และส่งป้อนให้ภาคใต้เกิดความมั่นคงไฟฟ้า ในขณะที่แผนลงทุนปี 2562 ของบริษัทตั้งงบลงทุน 2 หมื่นล้านบาท ดันกำลังผลิตเพิ่มเป็น 8,960 เมกะวัตต์

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมรองรับกรณีภาครัฐจะเปิดประมูลสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ภาคตะวันตก 2 โรง ขนาดโรงละ 700 เมกะวัตต์ โดยเป็นการสร้างทดแทนโรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ของบริษัทฯ ที่จะหมดอายุในปี 2563 ขนาด 700 เมกะวัตต์ และสร้างใหม่เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่สูงขึ้นอีก 700 เมกะวัตต์ โดยภาครัฐยืนยันแล้วว่าจะไม่ให้ต่ออายุโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้  ดังนั้นบริษัทฯต้องรอความชัดเจนในรายละเอียดด้านการประมูลอีกครั้ง แต่มั่นใจว่าบริษัทฯมีความพร้อมสูงสุด โดยมีพื้นที่เพียงพอที่จะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ ซึ่งคาดว่าจะใช้พื้นที่เดิมของโรงไฟฟ้าของไตรเอนเนอจี้และโรงไฟฟ้าราชบุรีเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) กำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 2 โรงในปี 2567และปี 2568 ในขณะที่โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ จะหมดอายุในปี 2563 และจะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าภาคตะวันตกหายไป 700 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 3 ปี(2564-2566) แต่เชื่อว่าจะไม่ประสบปัญหาความมั่นคงไฟฟ้าภาคตะวันตก เนื่องจากปัจจุบันภาคตะวันตกมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ แต่ความต้องการใช้อยู่ที่ประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือป้อนให้กับกรุงเทพฯและภาคใต้

- Advertisment -

ทั้งนี้การที่ภาคตะวันตกจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้า 2 โรงดังกล่าวในอนาคต รวมกำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ก็เพื่อรองรับความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ด้วย เพราะภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโตถึง 4% ต่อปี ขณะความต้องการใช้ทั่วประเทศเติบโตแค่ 3% ต่อปี เนื่องจากเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ประกอบกับในแผน PDP2018 กำหนดให้ภาคใต้สร้างโรงไฟฟ้าที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี 2 โรง โรงละ 700 เมกะวัตต์ รวม 1,400 เมกะวัตต์  แต่จะสร้างเสร็จในปี 2570-2572 ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาเพื่อให้ภาคใต้มีไฟฟ้าเพียงพอนั้น ภาครัฐกำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เร่งสร้างสายส่งขนาด 500 KV เพื่อนำไฟฟ้าภาคตะวันตกไปช่วยเสริมระบบไฟฟ้าภาคใต้ โดยเฉพาะในช่วงที่แหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(JDA) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักผลิตไฟฟ้าภาคใต้มีการปิดซ่อมบำรุงเป็นประจำทุกปี

สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2562  บริษัทได้จัดเตรียมงบลงทุนราว 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเดินหน้าพัฒนาและก่อสร้างโครงการใหม่ โดยตั้งเป้าการลงทุนให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 8,960 เมกะวัตต์จากสิ้นปี 2561 ที่บริษัทฯ มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 7,639.12 เมกะวัตต์ มาจากโครงการในประเทศ 68.2% ต่างประเทศ 31.8% และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 8.74% พร้อมตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2566 ซึ่งจะมาจากโครงการในประเทศ 50% ต่างประเทศ 50% โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในสัดส่วน 20% โดยในส่วนของพลังงานทดแทน ตั้งเป้าหมายจะมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นปีละ2% คาดว่าจะใช้เวลาราว 5 ปีในการบรรลุเป้าหมาย

นอกจากนี้ บริษัทฯยังได้ลงทุนระบบโครงข่ายสื่อสาร คมนาคมขนส่งทางรางด้วย ที่ปัจจุบันมีความร่วมมือกับ บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด(มหาชน) หรือ ALT ในโครงการโครงข่ายสายใยแก้วนำแสงใต้ดินในไทยและมองโอกาสที่จะขยายไปยัง สปป.ลาวด้วย รวมถึงความร่วมมือของกลุ่ม BSR ที่มีผู้ร่วมทุนคือ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STEC และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู และมีโอกาสที่จะร่วมประมูลในโครงการรถไฟฟ้าที่จะเปิดประมูลใหม่ ๆ ด้วย เช่น สายสีส้ม และสีเทา ตลอดจน BSR ยังมีแผนจะร่วมกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญด้านการบินเพื่อร่วมประมูลโครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกด้วย

ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ในลาว คาดว่า จะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ( COD )ได้ในปลายปี 2562 จากกำหนดเดิมในเดือน ก.พ. 2562

Advertisment