ปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียม ทางเลือกที่ตอบโจทย์การอนุรักษ์ท้องทะเลไทย

1174
- Advertisment-

ปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียม ทางเลือกที่ตอบโจทย์การอนุรักษ์ท้องทะเลไทย

การทำปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งอาศัยให้กับสัตว์ทะเลไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย เพราะที่ผ่านมามีการใช้วัสดุหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เลิกใช้งานแล้ว เช่น ยานพาหนะเก่า เรือเก่า ตู้โบกี้รถไฟเก่า หรือวัสดุที่สร้างขึ้นมาใหม่ เช่น แท่งคอนกรีต ไปจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อฟื้นฟูความสมดุลให้กับระบบนิเวศใต้ท้องทะเลกันมาอย่างยาวนาน

ในต่างประเทศที่มีการดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเช่นที่อ่าวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา หรือที่ใกล้ประเทศไทยอย่าง มาเลเซีย บรูไน ก็มีการนำส่วนของขาแท่นปิโตรเลียมที่ปลดระวางแล้ว มาจัดวางเป็นแนวปะการังเทียม หรือ ที่เรียกว่า Rigs-to-Reefs ด้วยเช่นกัน เพราะพบว่า ขาแท่นปิโตรเลียมบริเวณนอกชายฝั่งทะเล ทำหน้าที่เสมือนปะการังเทียมอยู่แล้ว ที่เป็นทั้งที่ยึดเกาะของปะการัง และแหล่งที่อยู่อาศัยหลบภัยของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด

- Advertisment -

ที่สำคัญ เมื่อพิจารณาแนวทางการเลือกใช้วัสดุมาจัดทำเป็นปะการังเทียม ยังพบว่าขาแท่นปิโตรเลียมมีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์เกณฑ์มาตรฐานทั้ง 4 ข้อ ได้แก่ 1. ประสิทธิภาพในการดึงดูดให้สัตว์น้ำเข้ามาอยู่อาศัย เนื่องด้วยขาแท่นมีโครงสร้างสลับซับซ้อน และมีพื้นผิวที่เหมาะกับการลงเกาะของสิ่งมีชีวิต จึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยชั้นดีของสัตว์ทะเล เห็นได้จากความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศบริเวณขาแท่นกลางอ่าวไทย ซึ่งมีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดเข้ามาอยู่อาศัยมากมาย 2. ความทนทานและมั่นคงสูง โดยขาแท่นนั้นทำจากเหล็กกล้า (carbon steel) ทำให้มีความทนทานและมีอายุการใช้งานนาน ขณะเดียวกันด้วยน้ำหนักหลายร้อยตัน เมื่อนำมาวางเป็นปะการังเทียม จึงมีความมั่นคงสูง ทำให้เคลื่อนตัวจากตำแหน่งน้อย 3. เข้ากันได้กับสภาพแวดล้อมทางทะเล ส่วนของขาแท่นไม่มีส่วนใดสัมผัสกับปิโตรเลียมมาก่อน นอกจากนี้ยังได้รับการทดสอบแล้วว่าวัสดุขาแท่นไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล และ 4. เป็นวัสดุที่สามารถจัดหาได้หรือจัดสร้างได้อย่างคุ้มค่า ซึ่งการนำขาแท่นที่หมดวาระการใช้งานแล้วมาจัดวางเป็นปะการังเทียม นับเป็นการต่อยอดประโยชน์ในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เป็นการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ในประเทศไทยเอง ก็ได้มีการศึกษาเรื่องการนำขาแท่นมาจัดวางเป็นปะการังเทียมอย่างจริงจัง ในปี 2556 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่ายว่า วัสดุขาแท่นปิโตรเลียมสามารถสร้างประโยชน์ให้กับท้องทะเลไทยได้จริง โดยมีสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และผู้ประกอบการปิโตรเลียมในประเทศไทย 8 บริษัท ร่วมกันศึกษา ด้วยการทดลองนำโครงสร้างเหล็กจำลองที่ใช้วัสดุชนิดเดียวกับขาแท่นปิโตรเลียมไปทำเป็นปะการังเทียม และจัดวางที่อ่าวโฉลกหลำของเกาะพะงัน จ.สุราษฏร์ธานี

7 ปีผ่านไป ผลการศึกษาที่อ่าวโฉลกหลำพิสูจน์ให้เห็นว่า โครงสร้างเหล็กจำลองนั้น เป็นวัสดุที่เหมาะสมในการทำเป็นปะการังเทียม สร้างประโยชน์ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เป็นอย่างดี มีปะการังและสัตว์เกาะติดหนาแน่น อาทิ ฟองน้ำ สาหร่ายท่อ เพรียงหิน เพรียงภูเขาไฟ แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ ที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารเกาะติดอยู่ ที่สำคัญคือมีปลาอย่างน้อย 24 ชนิด อาศัยบริเวณแนวปะการังดังกล่าว ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ พื้นที่จัดวางปะการังเทียมดังกล่าว ยังสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนบ้านโฉลกหลำ ทั้งทางด้านการท่องเที่ยว
ดำน้ำ และการประมงด้วย โดยชุมชนประมงรอบบริเวณนั้นต่างให้การยอมรับ

จากผลการศึกษาดังกล่าว จึงได้มีการต่อยอดสู่การจัดทำ โครงการนำร่อง ย้าย 7 ขาแท่นปิโตรเลียมกลางอ่าวไทยไปจัดวางเป็นปะการังเทียมขึ้นเป็นครั้งแรก ที่บริเวณเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี โดยอยู่ห่างจากเกาะพะงันไปเพียง 7.5 ไมล์ทะเล ที่ ทช. เชฟรอนประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกันดำเนินงาน เพื่อเป้าหมายในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำแห่งใหม่ และคาดหวังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำ ที่จะช่วยลดความแออัดของนักท่องเที่ยวดำน้ำออกจากแนวปะการังธรรมชาติ ตลอดจนเป็นแหล่งตกปลา และแหล่งประมง ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับคนในชุมชนทั้งบริเวณพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า

ทั้งนี้ ภายหลังจากการจัดวาง ทั้งสามหน่วยงานจะร่วมกันศึกษาและติดตามการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่อีก 2 ปี เพื่อถอดบทเรียนก่อนนำไปขยายผลต่อไป หลังจากนั้น เราคงจะได้เห็นว่า ปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียมนี้จะสร้างประโยชน์ต่อท้องทะเลไทยได้อย่างไรบ้าง

อนึ่ง ทั้ง 7 ขาแท่นนี้ เป็นขาแท่นปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้ว ซึ่งเชฟรอนได้ดำเนินการจัดวางและส่งมอบให้ ทช. ดูแลต่อไป โดยได้รับความเห็นชอบในการเคลื่อนย้ายและนำมาจัดวางเป็นปะการังเทียมจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รวมถึง ทช. ได้รับการอนุมัติอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า และกรมประมง เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศทางทะเลต่อไป

 

 

Advertisment