ปตท. เผย​ 3​ ยุทธศาสตร์สำคัญ​ ขับเคลื่อน Soft Power ไทยสู่สากล

236
- Advertisment-

ปตท. เผย​ 3​ ยุทธศาสตร์สำคัญ​ ขับเคลื่อน Soft Power ไทย ทั้งการสร้างคอนเทนต์ไทยสู่สากล ผ่านโครงการ Content Lab​ การสร้างบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านโครงการ TGIF – Technology is Fun และ จัดแสดงศักยภาพซอฟท์พาวเวอร์ด้านศิลปะไทย ผ่านนิทรรศการ “Locating the Locals: A Virtual Exhibition by PTT” หวังเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) สู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงานให้พร้อมรับการแข่งขันบนเวทีโลก

3 กุมภาพันธ์ 2566 – นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ซอฟท์พาวเวอร์ (Soft Power) เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการแพร่ขยายอิทธิพลทางค่านิยม หรือ วัฒนธรรม ที่นานาประเทศผลักดันให้เป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ปตท. เล็งเห็นถึงโอกาสของการต่อยอดแนวคิดดังกล่าว เพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงานให้พร้อมรับการแข่งขันบนเวทีโลก ด้วยวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond” จึงจัดตั้งโครงการ Soft Power for Better Thailand ขึ้น เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยยกระดับการพัฒนาซอฟท์พาวเวอร์ไทย หรือ เสน่ห์ไทย ที่เกิดจากวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีปฏิบัติอันเป็นภูมิปัญญาของประเทศไทย ที่อยู่ในความสนใจของชาวต่างชาติ ซึ่งนอกจากจะเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจที่จะสามารถดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพื่อขยายฐานอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Industry) ในประเทศไทย ที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย หลังสถานการณ์โรคติดเชื้อ COVID-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกได้อีกทางหนึ่งด้วย

“ปตท. ได้จับมือพันธมิตรภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งจาก บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) บริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านซอฟท์พาวเวอร์ ผ่านการนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับการสร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ภายใต้แนวคิด TECH CREATE FUN คือ การนำเทคโนโลยี (TECH) เช่น Virtual Reality, Augmented Reality, Drone และ Metaverse เป็นต้น มาเสริมศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน (CREATE) เช่น ภาพยนตร์ ดิจิทัลคอนเทนต์ หรือ งานศิลปะ เพื่อให้ทั้งผู้สร้างสรรค์ผลงานและผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ที่ดีขึ้น (FUN) รวมไปถึงยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ในการจัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาซอฟท์พาวเวอร์ไทย ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมคอนเทนต์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งการพัฒนาทักษะบุคลากร การสนับสนุนด้านทรัพยากรและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยมียุทธศาสตร์สำคัญในการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่

- Advertisment -

1​. สร้างคอนเทนต์ไทยสู่สากล ผ่านโครงการ Content Lab โดยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) จัดโปรแกรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้งานเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับผลิตภาพยนตร์ ซีรีส์ งานโฆษณา งานอีเวนต์ และเกม ให้กับนักเรียน นักศึกษา นักสร้างแอนิเมชั่น และบุคคลทั่วไปที่สนใจ เพื่อต่อยอดการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) สำหรับการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ทันสมัยเทียบเท่ามาตรฐานระดับสากล รวมถึงได้รับประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีการถ่ายทำชั้นนำของประเทศไทย โดยจะมีกิจกรรม Open House โครงการในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้

2. สร้างบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านโครงการ TGIF – Technology is Fun โดยนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการยกระดับซอฟท์พาวเวอร์ จัดแสดงที่มหาวิทยาลัย 11 แห่งทั่วประเทศ ในช่วงเดือนมีนาคม – กันยายน 2566 เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นซอฟท์พาวเวอร์ของประเทศได้ในเชิงพาณิชย์

และ 3. จัดแสดงศักยภาพซอฟท์พาวเวอร์ด้านศิลปะไทย ผ่านนิทรรศการ “Locating the Locals: A Virtual Exhibition by PTT” โดยคัดเลือกผลงานบางส่วนจากการจัดประกวดศิลปกรรม ปตท. ที่เคยได้รับรางวัลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 นำออกจัดแสดงอีกครั้ง โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชมบนพื้นที่จัดแสดงศิลปะแบบเสมือนจริง (Virtual Art Gallery) ซึ่งนอกจากการจัดแสดงครั้งแรก ณ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ได้การตอบรับเป็นอย่างดีแล้ว นิทรรศการนี้จะมีการจัดแสดงขึ้นอีกในงาน Bangkok Design Week 2023 ณ River City Bangkok ระหว่างวันที่ 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566 และ Isan Creative Festival 2023 ณ จ.ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 1 – 9 เมษายน 2566 ซึ่งผู้สนใจยังสามารถชมนิทรรศการในโลกเสมือนที่ virtualspacebyptt.com ได้อีกด้วย”

ความร่วมมือในการสนับสนุนการพัฒนาซอฟท์พาวเวอร์ไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลนี้ นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้ ปตท. ทดสอบความเป็นไปได้ในการสร้างธุรกิจและการพัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยยกระดับห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้ทัดเทียมสากล ช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาศักยภาพไปสู่การเป็นศูนย์กลางในการผลิตคอนเทนต์สร้างสรรค์ของอาเซียน ที่จะเพิ่มรายได้ให้ประเทศ เพิ่มการจ้างงานใหม่ในสาขาครีเอทีพและดิจิทัลได้ในระยะยาว อันจะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

Advertisment