ชดเชยดีเซลเพิ่มเป็น 3.79 บาทต่อลิตร หลังค่าการตลาดผู้ค้าติดลบครั้งแรกในรอบ 2 ปี

- Advertisment-

คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) อนุมัติเงินกองทุนน้ำมันฯชดเชยราคาดีเซลอีก 70 สตางค์ต่อลิตร รวมชดเชยแล้ว 3.79 บาทต่อลิตร ช่วยอุ้มค่าการตลาดดีเซลของผู้ค้าน้ำมันที่ประสบปัญหาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี ตรึงสุดฤทธิ์ไม่ให้ราคาดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร ระบุตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.-31 มี.ค.2565 ภาครัฐกำหนดจำหน่ายดีเซลB5 จะช่วยผู้ค้าน้ำมันลดต้นทุนได้อีก 50-60 สตางค์ต่อลิตร แนะผู้ค้าน้ำมันควรหันไปลดค่าการตลาดกลุ่มแก๊สโซฮอล์ให้ประชาชนแทน หลังใช้วิธีเพิ่มค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ มาโปะค่าการตลาดดีเซลในช่วงที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) วันที่ 2 ก.พ. 2565 ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้อนุมัติให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มการชดเชยราคาน้ำมันกลุ่มดีเซลอีก 70 สตางค์ต่อลิตร จากเดิมชดเชยราคาอยู่ 3.09 บาทต่อลิตร เป็นชดเชยรวม 3.79 บาทต่อลิตร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. 2565 เป็นต้นไป

ทั้งนี้การชดเชยราคาดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ค้าน้ำมันกลับมาได้รับค่าการตลาดดีเซลเป็นบวก หลังจากพบว่าเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2565 ค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลของผู้ค้าเข้าสู่ภาวะติดลบ 0.1194 บาทต่อลิตร นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี ที่ไม่มีกำไรจากการจำหน่ายดีเซลเลย แต่จำเป็นต้องจำหน่ายราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรตามนโยบายรัฐบาล

- Advertisment -

ดังนั้นการชดเชยราคาดังกล่าวจะทำให้ผู้ค้าได้รับกำไรตามปกติ และไม่ต้องปรับราคาจำหน่ายดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร นอกจากนี้ผู้ค้าน้ำมันจะได้ประโยชน์จากมาตรการของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2565 ที่กำหนดให้ลดการผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือ B100 ในน้ำมันดีเซลเหลือแค่ 5% โดยจำหน่ายเป็นดีเซล B5 จากเดิมกำหนดให้จำหน่ายเป็น B7 ซึ่งมาตรการนี้จะส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมันลดต้นทุนลงได้อีก 50-60 สตางค์ต่อลิตร ระหว่างวันที่ 5 ก.พ. -31 มี.ค. 2565

ดังนั้นโดยรวมผู้ค้าน้ำมันจะได้เงินจากการชดเชยราคาดีเซล 70 สตางค์ต่อลิตร และมาตรการ B5 อีก 50-60 สตางค์ต่อลิตร ทำให้ผู้ค้าน้ำมันควรพิจารณาลดค่าการตลาดกลุ่มแก๊สโซฮอล์ลง เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ค้าน้ำมันได้ปรับขึ้นค่าการตลาดน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ประมาณ 30-40 สตางค์ต่อลิตร เพื่อชดเชยค่าการตลาดดีเซลที่ติดลบ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานไม่สามารถบังคับอัตราค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันได้ เนื่องจากเป็นกลไกการค้าเสรี

สำหรับมาตรการดูแลราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นมาตรการที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้ว่าจะดูแลจนถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2565 พร้อมกับมาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) ไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม จนถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2565 เช่นกัน ซึ่งทั้งสองมาตรการส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ประสบภาวะเงินไหลออก 7,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินไหลออกจากมาตรการตรึงราคา LPG 1,900 ล้านบาทต่อเดือน และเงินไหลออกจากการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อเดือน

ขณะที่สถานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 30 ม.ค. 2565 กองทุนฯ มีสภาพติดลบ 14,080 ล้านบาท โดยชดเชยราคา LPG ไปแล้วรวม 24,669 ล้านบาท จากกรอบวงเงินที่ กบน.อนุมัติไว้ให้ใช้ได้ไม่เกิน 29,000 ล้านบาท

Advertisment