ปตท. คาดราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลงจากปัจจัยอิหร่านกลับมาส่งออกและข้อตกลงหยุดยิงบริเวณฉนวนกาซา

347
Cr: Image by Rudy and Peter Skitterians from Pixabay
- Advertisment-

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสถานการณ์ตลาดน้ำมัน สัปดาห์ที่ 17-21 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ราคาปรับลดลง ทั้งน้ำมันดิบเบรนท์ เวสต์เท็กซัส และดูไบ จากปัจจัยความคืบหน้าการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน รวมถึงสถานการณ์ COVID-19 ในอินเดียที่ยังไม่คลี่คลาย ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ (24-28 พ.ค. 64) ยังคงมีแนวโน้มลดลง จากปัจจัยการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำให้อิหร่านสามารถกลับมาส่งออก และข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์บริเวณฉนวนกาซา 

—–

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานปริมาณการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นในเดือน เม.ย. 64 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.5% มาอยู่ที่ 14.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • หลายประเทศในยุโรปเริ่มผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อาทิ ประชาชนในสหราชอาณาจักรสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติบนพื้นฐานของความระมัดระวังได้ตั้งแต่ 17 พ.ค. 64

- Advertisment -

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ 

  • ประธานาธิบดีอิหร่าน นาย Hassan Rouhani แถลงว่าการเจรจาเพื่อกลับมาสู่การปฏิบัติตามข้อตกลงระงับโครงการนิวเคลียร์ (Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA 2015) กับอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย และเยอรมนี มีความคืบหน้า โดยเฉพาะในประเด็นหลัก อาทิ ให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อภาคพลังงาน ธนาคาร และการเดินเรือของอิหร่าน
  • สถานการณ์ COVID-19 ในอินเดียยังไม่คลี่คลาย จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซ้ำได้รับผลกระทบเพิ่มจากพายุ Tauktae ซึ่งพัดเข้าถล่มรัฐ Gujarat ทำให้ฝนตกหนักและน้ำท่วม การอพยพเป็นไปอย่างยากลำบาก อีกทั้งต้องยกเลิกการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ออกไปก่อน

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลง ตามความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ (JCPOA) ซึ่งจะทำให้อิหร่านสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันดิบ ล่าสุดในสัปดาห์นี้เข้าสู่การเจรจาครั้งที่ 5 แม้สหรัฐฯ ยังไม่เข้าร่วมการเจรจาโดยตรง แต่ยังคงส่งผู้แทนมายังกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยสื่อสารผ่านทางผู้แทนจากสหภาพยุโรป ประกอบกับความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางลดลง หลังจากอิสราเอล และกองกำลังฮามาสในปาเลสไตน์บรรลุข้อตกลงหยุดยิงตามข้อเสนอของอียิปต์ เริ่ม 2.00 น.วันที่ 21 พ.ค. 64 (เวลาท้องถิ่น) สิ้นสุดการปะทะที่ต่อเนื่องมา 11 วัน อย่างไรก็ตาม ให้จับตาสภาพภูมิอากาศในสหรัฐฯ ที่อาจกระทบต่อการผลิตน้ำมัน โดย National Hurricane Center (NHC) ประเมินว่าหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณ Gulf of Mexico มีโอกาส 60% ที่จะก่อตัวเป็นเฮอริเคน

—-

Advertisment