“พลังงาน” พร้อมตรึงราคาดีเซลหากทะลุเกิน 30 บาทต่อลิตร

- Advertisment-

“พลังงาน” พร้อมใช้กองทุนน้ำมันตรึงราคาดีเซลหากขยับเกิน 30 บาทต่อลิตร เผยแนวโน้มสถานการณ์การใช้และราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่กลุ่มโอเปกควบคุมปริมาณการผลิต

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของซีกโลกตะวันตก รวมทั้งยังมีผลกระทบต่อเนื่องจากพายุในสหรัฐอเมริกา ทำให้การผลิตน้ำมันต้องหยุดชะงัก นอกจากนั้น กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันส่งออก (กลุ่ม OPEC) ได้มีการควบคุมการผลิตน้ำมันดิบ ส่งผลให้ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมมาตรการรับมือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและไม่ให้กระทบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเตรียมใช้มาตรการช่วยเหลือจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศไม่ให้มีความผันผวนมากจนเกินไป ซึ่งหากเกิดกรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลพื้นฐาน (B10) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 30 บาท/ลิตร ก็จะเข้าไปดูแลราคา ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซล (B10) อยู่ที่ 28.29 บาท/ลิตร

- Advertisment -

“กระทรวงพลังงาน ได้ติดตามสถานการณ์ของราคาน้ำมันและราคาแอลพีจีในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด และขอยืนยันว่า กระทรวงพลังงานเตรียมพร้อมใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าอุดหนุนทันที หากราคาน้ำมันดีเซล (B10) มีราคาสูงกว่า 30 บาทต่อลิตร ซึ่งในช่วงนี้ กระทรวงพลังงาน ขอรณรงค์ให้ประชาชนผู้ใช้น้ำมันดีเซล หันมาเติมน้ำมันดีเซล ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลบี7 ถึง 3 บาทต่อลิตร รวมถึงที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ก็ได้ให้การช่วยเหลือราคา LPG โดยตรึงราคาขายปลีกสำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัมอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา และล่าสุดคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ให้คงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มข้างต้นออกไปอีก 3 เดือน คือ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 ซึ่งขอยืนยันว่ากระทรวงพลังงานไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมที่จะใช้กลไกที่มีอยู่เข้าไปช่วยบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน” โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าว

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News​Center-ENC)​ รายงานว่า ข้อมูล ณ วันที่ 26 ก.ย. 2564 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเหลือเงินสุทธิอยู่ 11,441 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินในบัญชีน้ำมัน 28,872 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 17,431 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีเงินไหลออกรวม 2,237 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินไหลออกจากการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ 758 ล้านบาท และเงินไหลออกจากการดูแลราคา LPG จำนวน 1,480 ล้านบาท ซึ่งเงินกองทุนน้ำมันฯ ที่เหลือสุทธิ ประมาณ 11,441 ล้านบาท คาดว่าจะดูแลราคาพลังงานได้ถึง มี.ค. 2565 เท่านั้น

Advertisment

- Advertisment -.