บอร์ด กกพ. เตรียมหารือหลักเกณฑ์ราคาขายปลีกค่าไฟฟ้าสีเขียวสัปดาห์หน้า ก่อนนำมาเปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อไป

1068
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมหารือสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว สำหรับขายปลีกระหว่างการไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งต้องบวกรวมต้นทุนค่าบริหารจัดการและค่าสายส่งสายจำหน่ายไฟฟ้าไว้ด้วย หลังจากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นประชาชน ก่อนจะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กำหนดอัตราที่เหมาะสมเสนอเข้า บอร์ด กกพ. อีกครั้งก่อนประกาศใช้จริง คาดเสร็จภายในปี 2566 ก่อนเปิดซื้อขายไฟฟ้าได้จริงปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568 ต่อไป  

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าคณะกรรมการ(บอร์ด)ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะเปิดประชุมหารือเกี่ยวกับหลักเกณฑ์อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว หรือ ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว ในกรณีที่การไฟฟ้าเป็นผู้ขายให้กับภาคอุตสาหกรรมและประชาชน ซึ่งหากผ่านการพิจารณาจากบอร์ด กกพ.แล้ว ทาง สำนักงาน กกพ.จะนำมาเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนต่อไป  

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว(Utility Green Tariff หรือ UGT) สำหรับกรณีผู้ผลิตไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้า ซึ่งแบ่งเป็น  2 รูปแบบคือ 1.แบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องการเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT1) และ 2. แบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องการเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT2) แต่ขณะนี้ กกพ.กำลังจะพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวที่การไฟฟ้าจะนำมาขายต่อให้กับภาคอุตสาหกรรมและประชาชน ซึ่งต้องบวกรวมต้นทุนค่าสายส่ง สายจำหน่ายไฟฟ้า และค่าบริหารจัดการความไม่เสถียรของไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เป็นต้น

- Advertisment -

โดยตามขั้นตอนจะเริ่มจาก กกพ. กำหนดหลักเกณฑ์อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวที่การไฟฟ้าเป็นผู้ขายให้กับภาคอุตสาหกรรมและประชาชน จากนั้นจะนำมาเปิดรับฟังความเห็นประชาชนเพื่อนำมาปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯ แล้วนำเสนอเข้า บอร์ด กกพ.อีกรอบ หากบอร์ด กกพ.เห็นชอบแล้ว จึงจะส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จัดทำอัตราราคาจำหน่ายปลีกไฟฟ้าสีเขียวแก่ประชาชน ซึ่งคาดว่า กฟผ.จะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนจัดทำอัตราดังกล่าวเสร็จ  และส่งกลับมาให้บอร์ด กกพ.พิจารณาเห็นชอบก่อนประกาศใช้อัตราดังกล่าวต่อไป

อย่างไรก็ตามคาดว่าอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวทั้งราคาขายส่งและขายปลีกจะจัดทำเสร็จในปี 2566 นี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าสีเขียวในการผลิตสินค้า ตามทิศทางโลกที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาดและเริ่มใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้ามากขึ้น

แต่การใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะเริ่มขึ้นจริงประมาณปลายปี 2567 ถึงต้นปี 2568 เนื่องจากในด้านการผลิตไฟฟ้าจะเริ่มผลิตล็อตแรกได้ประมาณปี 2567 นี้ ซึ่งเป็นไปตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ที่ กกพ. เพิ่งจะเสร็จสิ้นการเปิดรับซื้อไฟฟ้ารอบแรกเกือบ 5 พันเมกะวัตต์ เมื่อเดือน เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเตรียมการเปิดรับซื้อไฟฟ้ารอบ 2 อีกกว่า 3 พันเมกะวัตต์ต่อไป

 ส่วนหลักเกณฑ์อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว ที่ กพช. เห็นชอบไปแล้ว สำหรับใช้กับผู้ผลิตไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าให้กับภาคการไฟฟ้า ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่ รูปแบบแรก UGT1 (ไม่เจาะจงที่มา) เป็นการให้บริการเกี่ยวกับใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (REC) ของโรงไฟฟ้าเดิมที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าและ REC ในการขอรับบริการ จึงเป็นอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) เพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามบิลค่าไฟฟ้าปกติ โดยผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถสมัครขอรับบริการในปริมาณต่ำกว่า 1 REC ได้ (1 REC = 1,000 หน่วย) และมีระยะเวลาการขอรับบริการสั้น (0-1 ปี)

รูปแบบที่สอง UGT2 (เจาะจงที่มา) เป็นการเปิดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้ไฟฟ้ามากและต้องการขับเคลื่อนการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าเข้ามารับภาระการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ โดยมีสัญญาการรับบริการนาน (10-25 ปี) และมีการออกแบบโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากมีการซื้อพลังงานไฟฟ้าพร้อม REC จากแหล่งพลังงานแบบเจาะจงที่มาในระยะยาว เข้ามาแทนพลังงานไฟฟ้าเดิม และมีการให้บริการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมด้วย

Advertisment